คนที่ชอบเข้านอนดึกและตื่นนอนสายๆ แม้จะรู้สึกว่าได้นอนเต็มอิ่ม แต่ก็ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่ดี เพราะการนอนดึกทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน ทำให้มีอาการคล้ายกับเจ็ตแล็ก (Jet Lag) ในทุกวัน คือมีอาการอ่อนเพลียในตอนกลางวัน และขาดสมาธิในการทำงาน
นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ซึ่งรวมถึงสมอง หัวใจ และหลอดเลือด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่เข้านอนในเวลาปกติด้วย
กิน-นอนส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม
เมื่อรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันเป็นไปด้วยความเร่งรีบ ทำให้รูปแบบการกินและการนอนเปลี่ยนไป จึงส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติไปด้วย ทั้งการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย ระบบการเผาผลาญ การควบคุมปริมาณกลูโคส ความดันโลหิต
โดยคนที่นอนดึกเป็นประจำมักจะมีรูปแบบการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากจะละเลยการรับประทานอาหารในมื้อเช้า เพราะตื่นไม่ทันแล้ว ก็ยังกินอาหารไม่เป็นเวลา ไม่ค่อยกินผัก และธัญพืช อีกทั้งยังเน้นกินมื้อใหญ่ มากกว่าการแบ่งมื้อกินบ่อยๆ ด้วย จึงมีความเสี่ยงต่อโรคสุดฮิตอย่างหัวใจ และเบาหวานชนิดที่ 2 นั่นเอง
สมองทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าคนนอนเร็ว
งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Birmingham ของอังกฤษ พบว่ารูปแบบกิจกรรมหรือการทำงานของสมองในคนที่นอนดึกจะต่างจากคนที่นอนเร็วตื่นเช้า ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานได้ หลังจากทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่มที่มีสุขภาพดี กลุ่มหนึ่งนอนเร็วตื่นเช้า และกลุ่มหนึ่งนอนดึกตื่นสาย (เวลาเข้านอนเฉลี่ยของกลุ่มนอนดึกอยู่ที่ 02.30 น. และจะตื่นในเวลา 10.15 น.)
โดยให้กลุ่มอาสาสมัครเข้าเครื่อง MRI เพื่อสังเกตการทำงานของสมอง รวมถึงดูการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินและคอร์ติซอล ซึ่งมีผลต่อวงจรการนอนหลับและตื่นของมนุษย์ด้วย
ปรากฏว่ารูปแบบการทำงานของสมองของกลุ่มคนที่นอนดึกจะส่งผลให้ในช่วงกลางวันไม่ค่อยมีสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งใดนานๆ และยังมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง รวมถึงมีระดับพลังงานที่ต่ำด้วย
ปรับไลฟ์สไตล์ใหม่ เพื่อปรับนาฬิกาชีวภาพ
แม้ว่าหน้าที่การงานของบางคนอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนอนดึกได้ แต่การปรับไลฟ์สไตล์ของตัวเองเสียใหม่ สามารถช่วยปรับนาฬิกาชีวภาพให้กลับมาเป็นปกติได้ หลังจากอาสาสมัครที่นอนดึก ได้ทดลองทำเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ซึ่งได้แก่
- ตื่นนอนให้เร็วขึ้นกว่าปกติ 2-3 ชั่วโมง และพยายามออกไปรับแสงกลางแจ้งนอกบ้านให้ได้มากที่สุดในช่วงเช้า
- เข้านอนให้เร็วขึ้นกว่าปกติ 2-3 ชั่วโมง และลดการใช้แสงสีฟ้าก่อนเข้านอน เพื่อให้นอนหลับง่ายขึ้น
- พยายามตื่นนอนและเข้านอนเวลาเดิมให้ได้ทุกวัน รวมถึงช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย
- สิ่งแรกที่ให้ทำหลังจากตื่นนอนคือการรับประทานอาหารเช้า ขณะที่มื้อกลางวันก็ให้รับประทานตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนมื้อเย็นให้รับประทานไม่เกินเวลา 19.00 น. ของทุกวัน
หลังจากทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ Andrew Bagshaw ผู้ร่วมทำการวิจัยดังกล่าว ระบุว่าอาสาสมัครมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยมีประสิทธิภาพในการรับรู้ด้วยการตอบสนองที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุดจะอยู่ในช่วงบ่ายของวัน จากเดิมที่มักจะอยู่ในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับไลฟ์สไตล์ดังกล่าว ช่วยทำให้นาฬิกาชีวภาพกลับมาสมดุลได้อีกครั้ง