“ศ.ดร.นฤมล” ช่วย”ศันสนะ” หาเสียงเขตราษฎร์บูรณะ เปิดวงกาแฟหาทางออก “แหล่งเงินทุน” ผู้ประกอบการรายเล็ก ชูกองทุนหนุน SE เพิ่มพลังทุน เพิ่มพลังเศรษฐกิจ สร้างธุรกิจสังคม แก้ปัญหา ศก.ฐานราก
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 เม.ย.66 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และหัวหน้าทีมผู้ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตลาดนัดแฟลตทหารเรือ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อช่วย นายศันสนะ สุริยะโยธิน ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 24 (ธนบุรี-คลองสาน-ราษฎร์บูรณะ ) หมายเลข 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รณรงค์หาเสียง โดยได้พบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการรายย่อยหลายอาชีพ อาทิ แม่ค้า, ผู้ที่เข้าอบรมฝึกอาชีพ และเปิดร้านกาแฟในชุมชน ที่ต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อเริ่มอาชีพหรือประกอบอาชีพ
โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวกับกลุ่มผู้ประกอบการว่า พปชร.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของชาว กทม.เราจึงได้ข้อสรุปว่า จะใช้ศักยภาพของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนที่จะมาพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ที่มีพระราชบัญญัติรองรับอยู่แล้ว นำมาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เราจึงจะหาแหล่งเงินเพื่อพัฒนาประเทศ โดยกลไกของตลาดทุนจะเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น แทนที่เราจะเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน เราก็ให้คนที่มีเงินเหลือใส่เงินผ่านกองทุนแล้วใช้กลไกกำกับดูแลให้ SE ลงไปทำงานในพื้นที่ก็จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“จุดยืนของ พปชร.เรายึดมั่นอุดมการณ์เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ชูแนวคิดใหม่ ฉีกกรอบออกจากข้อจำกัดของรายได้ภาษีและเพดานเงินกู้เพื่อเดินหน้าแก้ไขความยากจนให้คนไทยหนุนส่งเสริมตั้งกองทุน ระดมทุนผ่านกลไกตลาดทุนขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม (SE) สร้างแรงจูงใจให้เอกชนและประชาชนลงขัน ปลุกพลังธุรกิจจากคนรุ่นใหม่พัฒนาบ้านเกิด กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น” ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ด้าน นายศันสนะ เปิดเผยว่า ตนได้ผลักดันการสร้างงาน สร้างอาชีพ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประกอบเป็นอาชีพหลัก หรือเสริมจากงานประจำ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก พรรคพลังประชารัฐจึงได้คิดนโยบายที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาก็คือ กองทุน SE หรือ กองทุนกิจการเพื่อสังคม เป็นการหาทุนจากตลาดทุน ลดภาระการใช้เงินภาษีของประชาชน
“ยกตัวอย่าง เช่น ผู้เข้าอบรมสร้างอาชีพคนหนึ่งได้แจ้งว่าปกติเปิดร้านขายอาหารเฉพาะช่วงเช้า และได้ลองทำพวงกุญแจลูกปัดจากที่ได้อบรมมา มาขายหน้าร้าน มีคนติดต่อขอให้ทำส่ง ก็รู้สึกดีใจมาก แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดด้านหาเงินทุนในการซื้อวัตถุดิบและจ้างคนในชุมชนมาช่วย ทำให้ส่งของได้ที่ละไม่มาก เนื่องจากต้องทำเองและซื้อวัตถุดิบได้ทีละน้อย การจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ยุ่งยากระเบียบขั้นตอนมากมาย รวมถึงต้องมีผู้ค้ำประกัน ผมจึงต้องการผลักดันนโยบายนี้ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้า รายย่อย และผู้ประกอบการตัวเล็กๆทุกคน เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะเงินทุน เป็นสิ่งจำเป็นในการเริ่มต้นธุรกิจหรืออาชีพอย่างมาก” นายศันสนะ กล่าว