ว่ากันว่า นมเปรี้ยว ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย ปรับระบบขับถ่ายของเราให้ทำงานดีขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วหากเรากำลังท้องเสียอยู่ ควรดื่มนมเปรี้ยวจริง ๆ หรือ
ทำไม “นมเปรี้ยว” ถึงดีต่อร่างกาย ?
ประโยชน์ของนมเปรี้ยวที่ว่ากันว่ามีจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อดื่มเข้าไปจะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์เหล่านั้นในลำไส้จากการสูญเสียผ่านการขับถ่าย ช่วยปรับสมดุลของลำไส้ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ยังคงเป็นความคิดที่ถูกต้อง ดังนั้นยังคงสนับสนุนความคิดที่ว่า การดื่มนมเปรี้ยวเป็นประจำ ช่วยลดปัญหาท้องเสีย ท้องผูก และช่วยให้การขับถ่ายเป็นไปได้อย่างปกติในทุกๆ วัน
นมเปรี้ยว ไม่ได้มีประโยชน์ทุกกล่อง
ไม่ว่าคุณจะดื่มนมเปรี้ยว หรือกินโยเกิร์ต ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลังเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีต่อลำไส้ให้กับร่างกายคุณเสมอไป เพราะจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกายเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในนมเปรี้ยวทุกกล่อง ทุกแบบ ทุกยี่ห้อ ส่วนใหญ่กรรมวิธีการผลิตได้ผ่านความร้อนสูง ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ตายหมด
วิธีสังเกตง่ายๆ คือ การดูที่ฉลากผลิตภัณฑ์ ว่าระบุไว้หรือไม่ว่ามีจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หากระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท UHT คือผลิตภัณฑ์นมที่เก็บได้นานกว่าปกติ มักผ่านความร้อนจนสูญเสียจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ไปเรียบร้อยแล้ว (แต่คุณค่าทางสารอาหารจากนมยังคงอยู่)
ดื่ม “นมเปรี้ยว” อย่างไร เพื่อลดอาการ “ท้องเสีย”
การดื่มนมเปรี้ยวเพื่อช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น ควรเลือกดื่มตามอาการท้องเสียที่เราเป็นอยู่
ท้องเสียเฉียบพลัน
อาการท้องเสียเฉียบพลันมักเกิดจากอาหารการกินที่อาจมีเชื้อโรคที่ทำให้ร่างกายพยายามขับเชื้อโรคนั้นออกมาผ่านการขับถ่าย มักมีอาการปวดท้องโครกคราก ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง หากติดเชื้อจะมีไข้ด้วย มักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
ระหว่างที่มีอาการท้องเสีย หรือช่วงพักฟื้น ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ รสจืดๆ งดอาหารมันเพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น งดผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหมด อาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด รวมไปถึงเปรี้ยวจัดด้วย เพราะอาหารเปรี้ยวทำให้เสาะท้องได้เช่นกัน
ดังนั้น อาหารรสเปรี้ยว เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู รวมถึงนมเปรี้ยว ก็ยังควรงดอยู่ จนกว่าอาการจะหายดีเป็นปกติ (อาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์) จึงสามารถกลับมาดื่มนมเปรี้ยวเพิ่มจุลินทรีย์ให้กับลำไส้ได้
ท้องเสียเรื้อรัง
หากมีอาการท้องเสียเรื้อรัง มีอาการถ่ายเหลวแบบเป็นๆ หายๆ นานเป็นเดือน หรือเป็นปี อาจมีสาเหตุจากลำไส้ หรือระบบทางเดินอาหารแปรปรวน หรือลำไส้มีความไวต่อสิ่งเร้า (irritable bowel syndrome) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของใครบางคนเท่านั้น หรือที่เราเคยได้ยินกันว่าเป็นคน “ธาตุอ่อน”
อาการไม่รุนแรง มีอาการถ่ายเหลวหลังจากรับประทานอาหารที่มีแววว่าจะเสาะท้องประมาณ 15-30 นาที ถ่ายเหลวอยู่ 2-3 ครั้งก็หาย ไม่ได้ถ่ายเกิน 5 ครั้ง หรือมีไข้ ปวดท้องแบบบิด ๆ หรืออาการอื่น ๆ แต่อย่างใด
ส่วนใหญ่อาการท้องเสียเรื้อรังมักเริ่มเกิดขึ้นจากอาหารที่รับประทาน ดังนั้นหากรู้ตัวว่าเป็นคนธาตุอ่อน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการ โดยสามารถสังเกตจากอาการของตัวเองที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารนั้นๆ ได้ อาจแตกต่างไปในแต่ละคน แต่โดยส่วนใหญ่อาจเป็นอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารมัน น้ำส้มสายชู กะทิ สุรา เบียร์ นมสด ชา กาแฟ เป็นต้น หรือเกิดจากความเครียด เช่น วิตกกังวล คิดมาก เศร้า กลัว ตื่นเต้น โกรธ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียดีๆ ในร่างกายลดหายไปหมด การลดยาปฏิชีวนะลงก็อาจช่วยได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาด้วยก่อน ห้ามหยุดยาเอง
การดื่มนมเปรี้ยว จะช่วยให้การทำงานของระบบขับถ่าย และลำไส้ดีขึ้น โดยสามารถดื่ม 1 ขวดเล็ก หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วยเล็กเป็นประจำทุกวันได้ และควรเลือกสูตรไม่มีน้ำตาล เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็นในแต่ละวัน
ระบบขับถ่ายดี อย่าพึ่งพาแต่นมเปรี้ยว
การดื่มนมเปรี้ยวเป็นประจำทุกวัน ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นก็จริง แต่ทางออกที่ดีที่สุด คือการรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารอย่างพอเหมาะ อาหารที่ควรรับประทานได้แก่ ผักสดวันละ วันละ 4-6 ทัพพี ผลไม้สด วันละ 3-5 ถ้วยตวง พยายามกินให้ครบในทุกมื้อ จะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ง่ายขึ้น และไม่มีปัญหาท้องเสียท้องผูกบ่อยๆ อีกต่อไป
- “ท้องเสีย” ควร-ไม่ควรทานอาหารอะไรบ้าง?