ธัญวัจน์ ร่ำไห้กลางสภา วอนสมาชิกรับหลักการร่าง ‘สมรสเท่าเทียม’ ด้าน ‘ชวน’ ปลอบ เป็นกำลังใจให้ อย่าร้องไห้ สุดท้ายส่งครม.พิจารณา 60 วัน
9 ก.พ. 2565 – ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … ที่มี นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ
นายธัญวัจน์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลแพ่งและพาณิชย์หลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคสาม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างเรื่องเพศ จึงเสนอให้มีการแก้ไขดังนี้
1. แก้ไขให้ชายหญิงหรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้น สมรสกันได้ตามกฎหมาย
2. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด
3. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและคู่สมรส และกำหนดให้ตัดคำว่าสามีและภริยา และให้เพิ่มคำว่าคู่สมรส 3.ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ซึ่งบุคคลสองคนสมรสกัน มีสิทธิ์ หน้าที่และความคุ้มครองตามกฎหมาย
4. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 4 จากเดิมทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา เป็นทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
5. เรื่องสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน
6. เรื่องการสิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาดจากการสมรส การจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทน ค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังสิ้นสุดการสมรส
7. ให้คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
8. กรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ฆ่าคู่สมรส กำหนดให้เป็นผู้ถูกจำกัดมิให้รับมรดก
9. คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายหรือคู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกทางกันโดยมิได้หย่าร้างตามกฎหมาย มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิต
“ขอฝากถึง ส.ส.ทุกคนว่า สิ่งที่ธัญพูดถึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนในสังคมเข้าใจดีอยู่แล้วคือ การที่ชายหญิงตัดสินใจสร้างครอบครัวและจดทะเบียนสมรสใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมี สิทธิ์ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้เป็นการเรียกร้องมากกว่าผู้อื่น แต่กลุ่มแอลจีบีทีกำลังบอกผู้มีอำนาจว่า พวกท่านพรากสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวจากพวกเราไป” นายธัญวัจน์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและร้องไห้ออกมา
ต่อมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นเสนอต่อที่ประชุมว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอนำร่างกลับไปพิจารณาก่อน 60 วันก่อนจะนำกลับมาให้สภาฯ ลงมติวาระที่ 1
ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกขึ้นแย้งว่า ตนไม่เห็นด้วยที่กฎหมายหลายฉบับต้องส่งให้ครม.พิจารณา 60 วัน เท่ากับล่าช้าไปไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทั้งที่กฎหมายเหล่านี้เข้าสภาฯ มาเป็นปีแล้ว ขอให้ลงมติเลย
จากนั้นสมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพรรคก้าวไกลได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในแนวทางสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมลงมติอนุมัติให้ครม.รับไปพิจารณา 60 วันก่อนนำกลับมาสภาฯ เพื่อพิจารณาและลงมติรับหลักการวาระ 1 ด้วยเสียงเห็นชอบ 227 เสียง ไม่เห็นชอบ 157 เสียง และ งดออกเสียง 10 เสียง ก่อนจะปิดประชุมในเวลา 18.36 น.