ธนาธร เสนอยุทธศาสตร์ "4 เปลี่ยน" สู้วิกฤตโควิดรอบใหม่ แนะผู้บริหารต้องปรับทัศนคติ

Home » ธนาธร เสนอยุทธศาสตร์ "4 เปลี่ยน" สู้วิกฤตโควิดรอบใหม่ แนะผู้บริหารต้องปรับทัศนคติ



ธนาธร เสนอยุทธศาสตร์ "4 เปลี่ยน" สู้วิกฤตโควิดรอบใหม่ แนะผู้บริหารต้องปรับทัศนคติ

ประธานคณะก้าวหน้า เสนอ 4 เปลี่ยน สู้วิกฤตโควิด-19 จัดหา-กระจายวัคซีน ออกมาตรการเยียวยา และเปลี่ยนทัศนคติผู้บริหาร

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เสนอยุทธศาสตร์ 4 เปลี่ยน สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เปลี่ยนการจัดหาวัคซีน

นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเปลี่ยนวิธีการจัดหาวัคซีน ไม่กระจุกตัวอยู่แค่เพียงไม่กี่เจ้า การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่โอกาสเป็นไปได้เร็วที่สุดนั้นคือการเข้ามาของวัคซีนต่างๆ ในช่วงไตรมาส 4

ดังนั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทีมเจรจา ถ้าทำได้เร็วกว่านี้จะเป็นประโยชน์ เพราะตอนนี้ถือว่าเป็นไปโดยช้ามาก

2. เปลี่ยนการกระจายวัคซีน

การฉีดวัคซีนวันนี้ แสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอย่างมาก ฉีดได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ความพร้อมไม่มี ดังนั้น รัฐบาลต้องกลับมาตั้งสมติฐานใหม่ ถ้าบริหารจัดการให้ดี บุคลากรต่างๆ ต้องทำได้ดีกว่านี้

ความพร้อม การประชาสัมพันธ์เรื่องการฉัดวัคซีน กระจายการฉีดวัคซีนต้องทำได้ดีกว่านี้ เชื่อว่า 10 ล้านเข็มต่อเดือน สามารถทำได้ แต่ถึงตอนนี้ไม่มีใครชี้แจงว่าทำอย่างไร

ดังนั้น อยากเรียกร้อง ให้รัฐบาลระบุถึงเป้าหมายให้ชัด การฉีดวัคซีนต่อวัน ต่อเดือน เป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้ภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ติดตามอยู่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้

3. เปลี่ยนมาตรการเยียวยา

ในภาวะวิกฤต มาตรการทางสังคมกับทางเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน ในการระบาดรอบแรก ทั้งสองมาตรการเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วน ไม่สอดคล้อง เพราะมาตรการสังคมเข้มงวด แต่มาตรการเศรษฐกิจกลับไม่รองรับ

มีแรงงานนอกระบบถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก กระทั่งสถานการณ์ ณ ตอนนี้ เราเข้าสู่ภาวะกึ่งล็อกดาวน์ แต่ไม่มีมาตรการเศรษฐกิจรองรับเลย ซึ่งอันตรายมาก 

ดังนั้น พ.ร.บ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้เงินที่เหลือ 2.5 แสนล้าน ต้องนำออกมาใช้อย่างรวดเร็วใน 2 เรื่อง ได้แก่

  • ป้องกันไม่ให้ลูกจ้างตกงานเพิ่ม รัฐบาลอาจช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการช่วยจ่ายเงินเดือน 50% แลกกับการที่นายจ้างไม่เลิกจ้าง
  • เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้ารายละ 3,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งโดยสภาวะการคลังยังทำได้

4. เปลี่ยนทัศนคติผู้บริหาร

วันนี้คนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะพาประชาชนไปรอด เพราะยังเป็นระบบเป็นเจ้าขุนมูลนาย ผู้บริหารยังมองว่าประชาชนเป็นภาระ ทั้งที่เมื่อไปดูการแพร่ระบาด การติดเชื้อนั้นมาจากอภิสิทธิ์ชนและการเลือกปฏิบัติตามแบบของระบบเจ้าขุนมูลนายทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้บริหารต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ตนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และประชาชนไม่ใช่ภาระ การบริหารจัดการต้องเท่าเทียมกัน ข้อมูลต้องเปิดเผย และมีความจริงจัง จริงใจในการดูแลประชาชน

รัฐบาลเหลือเงินเยียวยาอีก 3.8 แสนล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความมั่นใจว่ามาตรการที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่มีมติเห็นชอบ จะมีประสิทธิภาพ

สามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้โดยเร็ว และไม่แพร่กระจายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมาตรการที่สำคัญต่างๆ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ (18 เม.ย. 64)

รัฐบาลตัดสินใจหลีกเลี่ยงที่จะออกมาตรการล็อกดาวน์ หรือมาตรการเคอร์ฟิว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนมากเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลยังคงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฎิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดอย่างเคร่งครัด

นายกรัฐมนตรี ยังมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ในปี 2564 นี้ เนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ

ภายในปี 2564 นี้ ไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 63 ล้านโดส ที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว และที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 10 ล้านโดส สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน

ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จะสามารถดำเนินการได้ตามที่วางแผนไว้ กล่าวคือ ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคนภายในปี 2564 นี้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มีความมั่นใจ เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดในระลอกนี้ ว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลยังมีเงินเกือบ 3.8 แสนล้านบาทสำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

แยกเป็นเงินจำนวน 2.4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินจากงบกลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 98,500 ล้านบาท และงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 36,800 ล้านบาท

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ