"ธนาธร" เล่าประสบการณ์คนในครอบครัวติดโควิด ชำแหละ 5 ปัญหา รบ.รับมือล้มเหลว

Home » "ธนาธร" เล่าประสบการณ์คนในครอบครัวติดโควิด ชำแหละ 5 ปัญหา รบ.รับมือล้มเหลว
"ธนาธร" เล่าประสบการณ์คนในครอบครัวติดโควิด ชำแหละ 5 ปัญหา รบ.รับมือล้มเหลว

“ธนาธร” เล่าประสบการณ์คนในครอบครัวติดโควิด จี้รัฐให้ประชาชนตรวจหาเชื้อฟรี เปิดข้อมูล จริงใจ อย่าไร้ภาวะผู้นำ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขยายความจากประเด็นได้ร่วมเป็นแขกรับเชิญทางรายการ workpointTODAY เรื่องสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสืบเนื่องหลายด้าน

โดยนายธนาธร ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตนเห็นว่ามีอยู่ 5 ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย

1) เรื่องการตรวจหาโรค ที่ไม่ได้ทำกันมากพอในสภาวะนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา ร่วมกับทางคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกแบบ rapid antigen test ให้กับชุมชนหลายแห่ง และก็เจอผู้ติดเชื้อใหม่ในทุกที่ที่ไป ซึ่งหมายความว่าการตรวจหาโรคในสภาวะปัจจุบันยังไม่ทั่วถึงครอบคลุมจริงๆ

ปัญหาอีกประการหนึ่ง ที่ตนได้ประสบกับตัว คือการที่มีคนในบ้านติดเชื้อโควิด สมาชิกที่เหลือในบ้านต้องไปตรวจโควิด โดยต้องเสียเงินเองเป็นเงินหลายพันบาท ทั้งที่ตามหลักของศบค. ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อ ถือเป็นผู้เสี่ยงสูง ต้องได้รับการตรวจฟรี

คำถามคือ หากเป็นประชาชนทั่วไปที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าตรวจ เท่ากับเป็นการผลักภาระให้ประชาชน และปัญหานี้ พรรคก้าวไกลได้ลงพื้นที่พบประชาชนร้องเรียนเยอะมาก ว่าอยู่ในบริเวณใกล้กับผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่บ้านเดียวกัน แต่ไม่สามารถรับการตรวจฟรีได้ โรงพยาบาลให้เสียเงินเอง

การตรวจหาเชื้อโควิดควรเป็นบริการ ที่รัฐจัดให้ประชาชนฟรี เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค และจะได้ทราบสถานการณ์ที่แท้จริง และรัฐควรคิดไปถึงการจัดอุปกรณ์ rapid test ให้ประชาชนสามารถตรวจโควิดได้ด้วยตัวเอง เพราะการตรวจจะต้องทำบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาลในการรับตรวจ

2) เรื่องการจัดหาวัคซีน เป็นเรื่องที่ตนไม่เข้าใจ การจัดซื้อวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป พล.อ.ประยุทธ์สามารถเจรจายกหูหาซีอีโอบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เพื่อสอบถามว่ามีวัคซีนเหลืออยู่เท่าไรที่จัดส่งได้ปีนี้ จะได้เดือนไหนบ้าง และราคาเท่าไหร่ ถ้าเงื่อนไขนี้ทำได้ก็จับมือกันได้เลย

“ปัญหาคือเราพูดเรื่องไฟเซอร์มาสองเดือนสามเดือนแล้ว รัฐบาลไม่เคยออกมาชี้แจงว่าตกลงเจรจาแล้วเป็นอย่างไร ทำไมต้องรอให้องค์กรนั้นองค์กรนี้ไปเจรจา นายกรัฐมนตรี ยกหูหาซีอีโอสิบนาทีก็รู้เรื่องแล้ว เริ่มคุยกันได้แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องภาวะผู้นำชัดๆ เลย และผมหาตรรกะไม่เจอว่าทำไมไม่ทำแบบนี้” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวต่อไป ว่าการฉีดวัคซีนวันนี้ตั้งเป้าที่ 100 ล้านโดสภายในวันที่ 31 ธันวาคม นั่งนับวันแล้ว ไม่มีวันไหนที่ประเทศไทยฉีดได้เกิน 5 แสนโดสต่อวันเลย นับตั้งแต่ที่รณรงค์ฉีดวันแรกมาจนถึงวันนี้เราฉีดไปแล้ว 8.1 ล้านโดส เหลืออีก 91.8 ล้านโดสที่ต้องฉีด

เฉลี่ยเราเหลืออยู่ 190 วันไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม หมายความว่าต้องฉีดให้ได้วันละ 4.8 แสนโดส ศักยภาพของระบบสาธารณสุขเราสามารถฉีดได้ แต่คำถามคือ มีวัคซีนฉีดพอเท่านี้ทุกวันหรือไม่

3) การวางแผนฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจมากสำหรับประชาชน ที่ไม่เคยมีใครได้เห็นข้อมูลเลย ว่าสต็อกวัคซีนทั้งประเทศมีอยู่เท่าไหร่ ส่งไปที่ไหนจังหวัดไหน องค์กรไหนบ้าง สถานที่ฉีดในละแวกบ้านเหลือสต็อกเท่าไหร่ โรงพยาบาลในจังหวัดเหลือวัคซีนเท่าไหร่

การบริหารที่ดี คือรัฐบาลต้องจัดการซัพพลายเชนของวัคซีนทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่รับมา ไปที่กระทรวงไหนบ้าง ไปที่หน่วยงานไหนบ้าง ไปที่จังหวัดไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ แล้วสามารถตามย้อนหาต้นตอที่มากลับไปสู่ต้นทางได้หมด เพื่อจัดสมดุลและจัดส่งให้ได้ตามจำนวนที่ไม่มากเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ขาดแคลน

“จะบริหารอย่างนี้ได้ต้องมองเห็นตัวเลขและฐานข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัคซีน การฉีดวัคซีนให้ได้มากเพียงพอ แต่ผมคิดว่าเหตุผลเดียวที่รัฐบาลไม่เปิดเผยเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็คือความต้องการที่จะปกป้องบางบริษัท ผมคิดออกเหตุผลเดียวเท่านั้นเอง ผมพยายามนั่งถอดตรรกะ พยายามคิดแทนรัฐบาลเยอะมาก ว่าทำไมถึงบริหารจัดการแบบนี้ มีใครไม่รู้ปัญหาบ้าง ว่าเราต้องการวัคซีนที่หลากหลายมากกว่านี้ เร็วกว่านี้? มีใครไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างนั้นหรือ? คำตอบคือไม่มี แล้วทำไมไม่ทำ? เราตอบคำถามไม่ได้ว่าทำไมถึงบริหารแบบนี้ นอกจากเหตุผลเดียว คือเพียงต้องการปกป้องบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นการเฉพาะ” นายธนาธรกล่าว

4) ภาวะผู้นำ ภาวะวิกฤติเป็นภาวะที่พิสูจน์ความเป็นผู้นำ เป็นภาวะที่ผู้นำจะต้องมานั่งหัวโต๊ะเอง สั่งการเอง ตัดสินใจในเรื่องพวกนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราไม่เห็นภาวะแบบนี้จากผู้นำในปัจจุบัน

5) การดูแลผู้เสี่ยงและผู้ติดเชื้อ ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ใกล้จะเกินศักยภาพรองรับผู้ป่วยแล้ว ในเมืองใหญ่สถานการณ์กำลังบานปลายมากในขณะนี้ การจัดการดูแลไม่เต็มที่ จนภาคเอกชน ต้องลงมือทำเองในการดูแลคนที่เสี่ยงและคนที่ติดเชื้อ ส่งพวกเขาไปที่สถานพยาบาลเอง จะเห็นได้ชัดว่ากระบวนการจัดการการเอาใจใส่จากภาครัฐมีน้อยมาก

“ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือต้องตรวจเชิงรุกให้มากกว่านี้ จัดหาวัคซีนให้เยอะกว่านี้ หลากหลายกว่านี้ เร็วกว่านี้ วางแผนจัดฉีดวัคซีนให้มองเห็นตลอดซัพพลายเชน และดูแลคนติดเชื้อและผู้เสี่ยงให้ดีกว่านี้ มันอาจจะฟังดูยากแต่ผมว่ามันทำได้ และผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้อย่างเอาใจใส่” นายธนาธรกล่าวทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ