‘ธนาธร’ เยือนประตูท่าแพ ปราศรัยปลุกใจลงชื่อแก้รธน. ปลดล็อกท้องถิ่น แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ ชี้ชัด คนไม่จนเพราะโง่-บุญ แต่เพราะอำนาจไม่เท่ากัน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปราศรัยเวที “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ ปลุกท้องถิ่นทวงคืนอำนาจและงบประมาณที่ถูกดึงไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลางมากว่า 130 ปี แก้วิกฤตใหญ่ของชาติทั้งความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ และการเมือง
ขณะเดียวกัน ธนาธร โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า เราไม่ได้จนเพราะโง่ หรือทำบุญมาไม่พอ แต่เพราะอำนาจที่ไม่เท่ากัน
*สรุปจากคำปราศรัย ณ ประตูท่าแพ เชียงใหม่ 23 เม.ย. 65
แคมเปญ”ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 65 หรือในวันครบรอบ 130 ปีของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435 ซึ่งตลอด 130 ที่ผ่านมา ได้สร้างวิกฤตต่อเนื่องกันมาในสามด้านจนถึงปัจจุบัน คือ 1) การแย่งชิงทรัพยากร 2) การริดรอนอำนาจในการจัดการตนเอง และ 3) การแบ่งสรรภาษีที่ไม่เป็นธรรม
เพียง 10 ปี หลังการรวมศูนย์อำนาจ เกิดกบฏขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่ากบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญอีสาน กบฏ 7 หัวเมืองแขก ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย ที่การต่อต้านการรวมศูนย์เกิดขี้นกลางทศวรรษ 2440 ในเกือบทุกที่ และนี่คือประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในแบบเรียนกระแสหลัก
อำนาจ ทรัพยากร และภาษี เป็นของใคร ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
การเคลื่อนไหวต่อมาทั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์ มาจนถึงการเคลื่อนไหวโดยองค์กรภาคประชาชนอย่างสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สมัชชาคนจน มาเป็นพีมูฟในปัจจุบัน ล้วนเป็นกระแสธารการต่อสู้เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน
เช่น เรื่องของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่สร้างไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง แต่คนพื้นที่ไม่ได้ดอกผลจากการพัฒนา ได้รับแต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าและผลกระทบต่างๆ เขื่อนปากมูน ที่ส่งไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวงแต่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เหมืองตะกั่วคลิตี้ ที่แม้จะปิดไปแล้วแต่มลพิษยังคงตกค้างอยู่กำจัดไม่หมดจนถึงทุกวันนี้ ฯลฯ
นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ที่ส่งต่อจากยุคสมัยก่อนหน้านั้นมาจนถึงวันนี้
เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ ที่ทุกวันนี้ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 หลายพื้นที่ยังมีน้ำประปาที่มีสีขุ่น ถนนหนทางเป็นลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ฯลฯ ทั้งหมดไม่ใช่เพราะเราไม่มีความรู้และเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะประชาชนไม่มีทั้งอำนาจและงบประมาณในมือของตัวเอง
ทุกวันนี้ส่วนกลางโยนภารกิจมาให้ท้องถิ่นจัดการ แต่ไม่ให้งบประมาณมาด้วย กฎหมายหลายฉบับซ้อนกันเอง ต้องวิ่งหาหน่วยงานที่ส่วนกลางเต็มไปหมดเพื่อที่ท้องถิ่นจะพัฒนาเรื่องๆ หนึ่งได้
การรณรงค์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อขอความเมตตา แต่เพื่อบอกว่าสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ ดอกผลจากการพัฒนา ต้องถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้คนทุกภูมิภาคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากกว่านี้ ไม่ใช่ไปหล่อเลี้ยงชนชั้นนำที่ส่วนกลางอย่างเดียว
เขาบอกว่าคนต่างจังหวัดโง่จึงจน เขาบอกว่าที่จนเป็นเพราะชาติที่แล้วทำบุญมาไม่พอ ผมปฏิเสธที่จะเชื่ออยางนั้น สิ่งที่ผมเชื่อคือความจน ความเหลื่อมล้ำ ล้วนเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และนี่คือหลักใหญ่ใจความของร่างรัฐธรรมนูญที่เราเสนอ เพื่อให้เกิดการจัดสรรอำนาจและงบประมาณเสียใหม่
การจัดสรรรายได้ของแผ่นดินวันนี้ แบ่งเป็น 70% ให้ส่วนกลาง อีก 30% ให้ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งไปแบ่งกันเอง ถ้าคิดตามรายได้แผ่นดินของปีงบประมาณ 2565 คือ 2.49 ล้านล้านบาท จะมีเงินมาถึงท้องถิ่นเพียง 7 แสนล้านบาท เฉลี่ยไปในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งเท่านั้น
ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การจัดสรรภาษีจะถูกเปลี่ยนเป็นส่วนกลาง 50 – ท้องถิ่น 50 ท้องถิ่นจะได้งบประมาณรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เมื่อหาร 7 พันกว่าแห่ง เท่ากับว่าท้องถิ่นทุกที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกที่ละเฉลี่ย 63 ล้านบาทต่อปี
สิ่งนี้จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นตางๆ สามารถซ่อมถนน สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดีให้ลูกหลานของเรา ลงทุนในน้ำประปา จัดสวนสาธารณะที่ดีให้ทุกคนได้ จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและคนทุกคนกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้
ในเรื่องของอำนาจ รัฐธรรมนูญนี้จะพลิกกลับลำดับความสำคัญของอำนาจใหม่ เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องของท้องที่ เป็นอำนาจของคนท้องที่จัดการได้เต็มที่ การปกครองส่วนกลาง จังหวัด และท้องถิ่นแบ่งงานกันทำอย่างเหมาะสมตามขนาดของพื้นที่ โดยมีศักดิ์และศรีเท่ากัน และที่สำคัญในสังคมสมัยใหม่ หลักประชาธิปไตยคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ทุกตำแหน่งบริหารต้องมาจากการแต่งตั้งของประชาชนเท่านั้น
ถ้าไปดูประเทศที่เจริญแล้วทั้งหมดในโลก ระบบการปกครองเป็นแบบนี้ทั้งหมด มีการแบ่งงานและแบ่งภาษีอย่างเป็นธรรม ไม่มีประเทศไหนที่มีผู้ว่าแต่งตั้งจากส่วนกลาง แล้วมีอำนาจผู้บริหารที่แต่งตั้งจากประชาชนนั่งซ้อนกันอยู่ จนสับสนวุ่นวายทั้งในเรื่องอำนาจและงบประมาณแบบประเทศไทย
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราออกแบบสัญลักษณ์ของการณรงค์เป็นรูปกุญแจ เพราะเรามีโซ่ตรวนที่พันธนาการความเจริญของประเทศไทยอยู่ ถ้าไขออกได้จะตอบโจทย์และแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
ในรูปธรรม การที่ท้องถิ่นมีงบลงมาอีกที่ละ 60 ล้าน และมีอำนาจในการจัดการอย่างเต็มที่ จะทำให้เกิดการพัฒนา มีการจัดซื้อจัดจ้าง จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในทันที
ภาษีที่ไปหล่อเลี้ยงรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะจะถูกดึงกลับมาสู่ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ห่างไกลกันอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องผ่านตัวกลางมากมาย กว่าที่งบประมาณจะลงมาถึงประชาชน ตัวกลางเดียวที่มีอยู่คือบัตรเลือกตั้ง
การสะเดาะกุญแจนี้ออกได้ ยังจะทำให้ประชาธิปไตยในระดับชาติเข้มแข็ง จากการเมืองในระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง เมื่องบประมาณลงมาอยู่ใกล้ประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่นถืออำนาจและงบประมาณอย่างแท้จริง สร้างการพัฒนาได้อย่างแท้จริง คนจะเข้าใจความหมายของบัตรเลือกตั้งมากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมายมากขึ้น ประชาชนได้ลิ้มรสประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อนั้นประชาชนจะไม่หันกลับไปหาเผด็จการอีก
ไม่ต้องทำบุญให้เยอะเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชาติหน้า ลงชื่อตอนนี้ ความเป็นอยู่ดีขึ้นในชาตินี้ เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าคณะก้าวหน้าจะทำคนเดียวได้ พลังของเราลำพังไม่พอ เราต้องการพลังจากทุกคน ต้องการปลดปล่อยพลังของคน 67 ล้านคน ไม่ต้องเป็นคอขวดที่กรุงเทพอีกต่อไป