'ธนาธร' เชื่อ อุบลฯดีกว่านี้ได้ เสนอใช้รถสาธารณะ เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยว

Home » 'ธนาธร' เชื่อ อุบลฯดีกว่านี้ได้ เสนอใช้รถสาธารณะ เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยว


'ธนาธร' เชื่อ อุบลฯดีกว่านี้ได้ เสนอใช้รถสาธารณะ เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยว

‘ธนาธร’ เชื่อ อุบลฯดีกว่านี้ได้ เสนอใช้รถสาธารณะ เส้นทางท่องเที่ยว หลังเจอปัญหา ลงเครื่องแล้วไปต่อไม่ได้ ต้องมีรถส่วนตัวเท่านั้น

วันที่ 29 มี.ค.2566 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความระบุว่า สร้างการเชื่อมต่อ สร้างงาน เพิ่มนักท่องเที่ยว เปลี่ยนอุบลเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของอีสาน

สวัสดีครับทุกท่าน สัปดาห์นี้ผมเดินทางไปอุบลราชธานี เพื่อช่วยว่าที่ผู้สมัครส.ส. ทั้ง 11 เขต ของพรรคก้าวไกล หาเสียงและขอคะแนนจากพี่น้องชาวอุบล นอกจากการได้พบกัน ยังได้รับความฮักบักหลายของพ่อใหญ่แม่ใหญ่ คนหนุ่มสาวอุบลด้วยครับ หลังจากได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวอุบล และได้เห็นศักยภาพของพื้นที่ ผมได้นำเอาแผนการพัฒนาเส้นทางขนส่งสาธารณะ และแนวทางการสร้างงานมาฝากกันครับ

การเดินทางของผมเริ่มต้นขึ้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอเหนือสุดทางทิศตะวันออกของอุบล เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโขง มี 5 อำเภอ ในอุบล ได้แก่ อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโขงเจียม ติดกับแม่น้ำโขงด้วยระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร ทำให้เส้นทางนี้เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เกาะแก่ง โบก (หลุมในภาษาอีสาน) กลางลำน้ำโขง

และนอกเหนือจากอำเภอติดลำโขง ยังมีอำเภออื่นๆ ในจังหวัดที่เต็มไปด้วยที่ท่องเที่ยว ทั้งทะเลอุบล อำเภอสิรินธร หรืออุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย ฯลฯ อีกทั้งยังมีด่านผ่านแดนช่องเม็ก และแผนการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ที่อำเภอนาตาล เพื่อเชื่อมต่ออุบลกับลาวใต้ ผมเห็นศักยภาพของอุบลราชธานีเต็มไปหมดเลยครับ และผมเชื่อว่าอุบลสามารถไปได้ไกลกว่านี้

ผมขอยกตัวอย่างเส้นทางการท่องเที่ยว อำเภอเขมราฐ เป็นอำเภอเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตอนหลังพัฒนาเป็น ‘ถนนคนเดินเขมราฐ’ มีทั้งพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ของตัวเอง งานหัตถศิลป์ขึ้นชื่อ

หากล่องลำโขงลงไป จะมี ‘หาดชมดาว’ อำเภอนาตาล เป็นแก่งโค้งขนาดใหญ่และหาดทรายขาว (ผมจะแนบรูปไว้ข้างใต้ด้วยครับ)

ถัดลงไปอีกมี ‘สามพันโบก’ อำเภอโพธิ์ไทร อุทยานธรณีระดับโลก ถัดไปเป็นอำเภอโขงเจียม นอกจากจะเป็นที่ตั้งของ ‘อุทยานแห่งชาติผาแต้ม’ ผาหินพร้อมภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ และ ‘ผาชะนะได’ จุดชมแสงแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง เกิดเป็น ‘แม่น้ำสองสี’ ผสมกันสวยมากครับ

ฟังผมเล่าให้ฟังอย่างนี้แล้ว อยากจะไปเที่ยวอุบลเลยบ่ครับ แต่สงสัยไหมว่า จังหวัดที่มีศักยภาพและทรัพยากรทางธรรมชาติมากขนาดนี้ทำไมถึงไม่สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสมาที่สามพันโบก หากลงเครื่องที่สนามบินนานาชาติอุบล พบว่าไม่สามารถเดินทางไปจุดไหนได้เลย หากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เพราะขาดการเชื่อมต่อภายในเมือง เส้นทางท่องเที่ยวเลยไม่เกิด อาชีพระหว่างเส้นทางเลยไม่เกิด

ผมขอเสนอให้สร้างเส้นทางการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างอาชีพด้วยเส้นทางการเดินรถสาธารณะต่อไปนี้ครับ

เส้นที่ 1 อำเภอเมือง-ตระการพืชผล-เขมราฐ-โพธิ์ไทร-สามพันโบก
เส้นที่ 2 อำเภอตระการพืชผล- นาโพธิ์กลาง-น้ำตกแสงจันทร์-ผาชะนะได
เส้นที่ 3 อำเภอเมือง-พิบูลมังสาหาร-พัทยาน้อย-สิรินธร
เส้นที่ 4 สามพันโบก-นาโพธิ์กลาง-ผาแต้ม-เขื่อนสิรินธร-ช่องเม็ก

การสร้างการเชื่อมต่อระหว่างอำเภอภายในจังหวัดอุบล จะช่วยสร้างทั้งงานและนักท่องเที่ยว เพราะรถเมล์จะช่วยเพิ่มโอกาสและการค้าระหว่างทาง ขณะที่เราใช้รถสาธารณะ แวะปั๊มหรือร้านสะดวกซื้อ เงินที่ใช้จ่ายไปทั้งหมดจะกลับไปกรุงเทพ ไม่ได้มีการกระจายสู่ท้องถิ่น ตรงนี้ สามารถจ่ายเป็นแพ็กเกจ เดินทางไปได้หมดเลย จะทำให้เกิดการท่องเที่ยว โรงแรม ตลาด สถานที่ท่องเที่ยว เชื่อมโยงไปด้วยกัน ผมขอเสนอให้การเดินทางในอุบลสามารถใช้บัตรใบเดียว และต้องมีการโปรโมทการท่องเที่ยวให้หลากหลายภาษา เพราะปัจจุบันแทบไม่มีข้อมูลภาษาอังกฤษให้ค้นหาเลย

นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมทักษะบุคคลในเมืองเพื่อดูแลนักท่องเที่ยว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน คือการดึงอำนาจออกจากกรมขนส่งทางบก หากรถเมล์วิ่งในเทศบาลหรือวิ่งข้ามเขต ต้องคุยกันที่เทศบาลและอบจ.ที่เกี่ยวข้อง ให้อำนาจคนในพื้นที่เป็นคนตัดสินใจ อยู่ที่นี่จะเอารถราคาเท่าไหร่? บริการอย่างไร? ไม่ต้องขอกรมขนส่งทางบก เพราะระบบราชการของไทยใหญ่โตเทอะทะและรวมศูนย์เกินไป ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องที่ได้ ทุกพรรคบอกจะส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ถ้าไม่มีขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงตลาด โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เข้าด้วยกัน ก็ไม่เกิดงาน ไม่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้

ผมเชื่อว่าอุบลดีกว่านี้ได้อีกหลายครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ