‘ธนาธร’ สะท้อนปัญหาขิง โดนกดราคา หน้าสวนขายได้แค่ 4 บาท เร่งหาทางส่งสู่ตลาดโลก เล็งร่วมมือคนม้งในต่างประเทศ ขยายช่องทางการขาย
วันที่ 25 ม.ค.65 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ความว่า เรื่องขิง ๆ : ปัญหาปากท้องกับการเมืองท้องถิ่น
ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เริ่มทำงานกับ อบต.ของคณะก้าวหน้าในหลายจังหวัดทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ โดยในวันนี้ ผมได้เดินทางมาที่ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มาพบปะปรึกษางานกับนายก อบต.เข็กน้อย คุณนราพงษ์ ทรงสวัสดิ์วงศ์ และทีมผู้บริหาร อบต.
เข็กน้อยเป็นพื้นที่ปลูกขิงใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ประชาชนมากกว่าครึ่งที่นี่ปลูกขิงเป็นพืชหลัก ปีที่แล้วราคาหน้าสวนได้กิโลกรัมละ 20 บาท มาปีนี้ราคาตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 4 บาทเท่านั้น จากการกดราคาจากพ่อค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรขิงขาดทุนเป็นจำนวนมาก
จากราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ 4 บาท ไปอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท
เมื่อไปอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่กรุงเทพ เป็นกิโลกรัมละ 69 บาท และเมื่อไปถึงตลาดค้าปลีกที่ประเทศญี่ปุ่น ราคากิโลกรัมละ 580 บาท
นายกฯ นราพงษ์ รู้สึกเจ็บปวดไปพร้อมกับพี่น้องเกษตรกร ที่ต้องมาถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ จึงหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยการจัดงาน “มหกรรมขิงแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถค้าขายได้โดยตรงกับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สัญจรผ่านไปมา
ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดมหกรรมขิงขึ้น ซึ่งนายกฯ นราพงษ์ ตั้งใจว่าจะจัดขึ้นทุกปี เพื่อสร้างความครึกครื้นให้กับทั้งเกษตรกรและผู้ค้าใน ต.เข็กน้อย เพื่อทำให้คนเห็นถึงศักยภาพทางการแพทย์ของขิง ไม่ว่าจะเป็นการขับลม หรือการละลายลิ่มเลือด และเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีหน้าร้านของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาการระบายสินค้าช่องทางเดียว
ในปีนี้ เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของโควิด บวกกับนายกฯ นราพงษ์ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งมาได้สองสัปดาห์ มีเวลาประชาสัมพันธ์มหกรรมได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ต้องนับว่านี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกของ อบต.คณะก้าวหน้าใน ต.เข็กน้อย ที่ต้องการให้เกษตรกรมีช่องทางการขายมากขึ้น
นอกจากนี้ คณะก้าวหน้ายังจะทำงานรวมกับ อบต.เข็กน้อย เพื่อหาช่องทางให้เกษตรกร ได้เป็นผู้นำขิงไทยสู่ตลาดโลกโดยตรงด้วย
จากข้อมูลของกรมศุลกากร ประเทศไทยส่งออกขิงและผงขิงสำเร็จรูปในปี 2564 เป็นมูลค่าถึงประมาณ 1,600 ล้านบาท (พิกัดกรมศุลกากร HS09101100) และ HS09101200) โดยมีตลาดส่งออกใหญ่อันดับหนึ่งคือปากีสถาน (739 ล้านบาท) อันดับสองคือญี่ปุ่น (434 ล้านบาท)
ประชากรเข็กน้อยมากกว่า 90% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งชาวม้งจากประเทศไทยหลายคนได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ อยู่กันเป็นชุมชน เช่นในสหรัฐฯและออสเตรเลีย เราจะลองใช้ศักยภาพชุมชนชาวม้งในต่างประเทศเพื่อเปิดตลาดขิงและผงขิงสำเร็จรูป เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดในชุมชน ไม่ต้องผ่านหลายมือ โดยให้สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ส่งออกเอง
เช่น ที่วอลมาร์ทในสหรัฐฯ ขิงสองขีดขายอยู่ที่ 2.48 ดอลลาร์ หรือกิโลกรัมละ 400 บาท ต่างจากราคาหน้าสวนที่เข็กน้อยถึง 100 เท่า
ราคาขิงในญี่ปุ่นจาก http://amazon.co.jp ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,700 เยน หรือประมาณ 493 บาท ห่างกันถึง 123 เท่าจากราคาหน้าสวนที่เข็กน้อย
หากใครบังเอิญได้ขับรถผ่านไปผ่านมาบนถนนทางหลวงหมายเลข 12 จากพิษณุโลกไปหล่มสัก ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกขิงของเรา นี่คือโอกาสที่ท่านจะได้ขิงคุณภาพในราคาถูกยิ่งกว่าที่ไหน เป็นการช่วยเกษตรกรให้ไม่ต้องเป็นหนี้สิน ราคาขิงเทศกาลนี้ขายที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม โดยในปีต่อ ๆ ไป หากการแพร่ระบาดของโควิดลดลง นายกฯ นราพงษ์ยังมีความตั้งใจจะจัดงานให้ครึกครื้นและยิ่งใหญ่กว่านี้ด้วย
ส่วนท่านใดที่มีประสบการณ์ส่งออกพืชผักผลไม้ หรือสมุนไพรไทยไปต่างประเทศ อยากช่วยขายหรือแนะนำช่องทางส่งออก สามารถส่งข้อความโดยตรงหาผมได้ทาง inbox ของเพจนี้นะครับ
พวกเราคณะก้าวหน้า ขอยืนยันในความตั้งใจจริงของพวกเรา ที่ต้องการใช้การเมืองท้องถิ่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยทุกคน
ประเทศไทยดีกว่านี้ได้ครับ
ปล.ฝากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตรวจสอบด้วย ว่ามีการฮั้วกันของบริษัทผู้รับซื้อหรือไม่ เพราะการที่ราคาลงมาจาก 20 บาทเหลือเพียง 4 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเรื่องที่เชื่อได้ยากเหลือเกิน ร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้เกษตรกรด้วยครับ