วันที่ 15 เม.ย.เอเอฟพีรายงานว่า นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสลงนามรับรองร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ฝ่าฝืนการประท้วงนาน 3 เดือนและข้อเรียกร้องจากสหภาพแรงงานไม่ให้ดำเนินการไปสู่ขั้นตอนการบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ร่างแก้ไขกฎหมายเกษียณอายุกลายเป็นกฎหมายหลังจากถูกพิมพ์เผยแพร่อย่างรวดเร็วในราชกิจจานุเบกษา ภายหลังที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบในสาระสำคัญของกฎหมาย รวมถึงการขยับเปลี่ยนอายุเกษียณจาก 62 ปีเป็น 64 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 14 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่น
ขณะที่สหภาพแรงงานเตือนว่า ทางสหภาพกำลังเรียกร้องให้ลูกจ้างมาประท้วงครั้งใหญ่ในวันแรงงานตรงกับวันที่ 1 พ.ค. 2566 หลังจากมีผู้ประท้วงราว 380,000 คนในวันสุดท้ายก่อนวันประกาศกฎหมาย แม้ถือว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่มีผู้มาประท้วงสูงสุดเกือบ 1.3 ล้านคนเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
การต่อสู้เพื่อบังคับใช้กฎหมายกลายเป็นความท้าทายจากภายในที่ใหญ่ที่สุดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนายมาครง เนื่องจากเผชิญการคัดค้านการแก้ไขกฎหมายเป็นวงกว้างรวมถึงคะแนนนิยมร่วงลงจนเกือบถึงจุดต่ำสุดอีกด้วย
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนมีมติเห็นชอบในข้อบัญญัติสำคัญของการปฏิรูปรวมถึงการขยับอายุเกษียณสู่ 64 ปีและขยายระยะเวลาการทำงานเพื่อรับเงินบำนาญจำนวนเต็ม ส่วนข้อเสนออีก 7 ข้อถูกปฏิเสธรวมถึงการบีบบังคับให้หลายบริษัทใหญ่พิมพ์เผยแพร่จำนวนลูกจ้างที่อายุเกิน 55 ปีและการทำสัญญาพิเศษสำหรับแรงงานสูงวัยด้วย
มติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจพิสูจน์ถึงชัยชนะสำหรับนายมาครง แต่ต้องแลกกับคะแนนความนิยมของนายมาครงร่วงใกล้ถึงจุดต่ำสุด และผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่พอใจอย่างมากจากการตัดสินใจที่จะขยายกฎหมายบำนาญผ่านรัฐสภาโดยปราศจากการโหวตโดยผู้มีสิทธิลงคะแนนตามกฎหมาย แต่กลับใช้กลไกที่ฝ่ายต่อต้านประณามว่า ต่อต้านประชาธิปไตย
โพลสำรวจความเห็นแสดงว่า ชาวฝรั่งเศส 2 ใน 3 ต่อต้านการทำงานเพิ่มอีก 2 ปี ด้านมาครงระบุว่า การเแก้ไขกฎหมายเป็นความจำเป็นเพื่อเลี่ยงการขาดดุลของกองทุนเงินบำนาญประจำปีที่คาดว่าจะแตะถึง 13,500 ล้านยูโรหรือราว 510,000 ล้านบาทภายในปีค.ศ.2030 หรือปีพ.ศ.2573
………….