ทูตอเมริกันคนใหม่ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ ฉลองครบความสัมพันธ์ 190 ปี บิ๊กตู่เปรยเข้าใจปธน.ไบเดน ไม่มาเอเปค พร้อมต้อนรับรองปธน.แทน
วันที่ 7 พ.ย.2565 นายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก (Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเข้ารับหน้าที่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต้อนรับ และแสดงความยินดีในการเข้ารับหน้าที่ของเอกอัครราชทูตฯ พร้อมกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่เติบโตอย่างมีพลวัตในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ในปีนี้จะครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมชื่นชมเอกอัครราชทูตฯ เชื่อมั่นว่าความรู้และประสบการณ์ของท่านจะสนับสนุนความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองชาติเป็นอย่างดี
โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูตฯในทุกมิติอย่างเต็มที่ และได้อวยพรให้เอกอัครราชทูตฯ ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ละมีความสุขในการพำนักในประเทศไทย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากความปรารถนาดีไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเข้าใจดีถึงเหตุผลที่ประธานาธิบดีที่ไม่สามารถเดินทางร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดีคาดว่าจะได้พบกันระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมให้การต้อนรับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วย
ด้านนายรอเบิร์ตได้กล่าวขอบคุณการต้อนรับของรัฐบาลไทยและประชาชนไทย ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ อย่างมาก เอกอัครราชทูตฯ ตั้งใจทำงานเพื่อจะกระชับความสัมพันธ์ในทุกระดับให้แน่นแฟ้น ทั้งรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ ประชาชนต่อประชาชน
ทั้งนี้เอกอัครราชทูตฯ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานของไทยเพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสการครบครอบ190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองชาติ พร้อมชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยในการจัดเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งจัดเตรียมได้อย่างเรียบร้อยเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมด้วย
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามโมเดล เศรษฐกิจ BCG ซึ่งไทยและสหรัฐฯ ต่างยืนยันการสนับสนุนบทบาทอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกันในภูมิภาค และอนุภูมิภาค
โดยพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น อาเซียน ACMECS และ Mekong – US Partnership รวมทั้งกลไกที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้น เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด -แปซิฟิก (IPEF) ทั้งนี้ ไทยจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด และประสงค์ ที่จะเห็นความก้าวหน้าและประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนในภูมิภาค
ตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ได้ขอบคุณและชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ผ่านทั้งช่องทางทวิภาคี กรอบอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ