หลังชาวเน็ตขุดภาพถ่ายของ “หมอพรทิพย์” หรือแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กำลังนอนทับมอสใน “ทุ่งลาวามอส” ประเทศไอซ์แลนด์ ก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมดังกล่าวของคุณหมอคนดังอย่างร้อนแรงในโลกโซเชียล ก่อนที่หมอพรทิพย์จะรีบลบภาพถ่ายดังกล่าวออก แต่ก็ไม่วายสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยจำนวนมาก จนหลายคนสงสัยว่าทุ่งลาวามอสที่ว่า มีความสำคัญอย่างไร แล้วทำไมจึงห้ามคนลงไปนอนทับ Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จัก “ทุ่งลาวามอส” พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และธรณีวิทยาของประเทศไอซ์แลนด์ และของโลกใบนี้
- หมอพรทิพย์ ลบรูปนอนทับมอสส์ทุ่งหินลาวาแล้ว เผยไอซ์แลนด์รณรงค์อย่าเหยียบ
- สรุปดราม่า “หมอพรทิพย์” ถูกไล่จากร้าน – ลาวามอส เผื่อคนพลาดช่วงวันหยุดที่ผ่านมา
- อ.เจษฎ์ เตือนอย่าหาทำ! ห้ามนอนบนพื้นมอสส์ที่ไอซ์แลนด์ ยกเคสดราม่าคนดังเป็นตัวอย่าง
“ไอซ์แลนด์” ดินแดนแห่งภูเขาไฟ
นอกจาก “แสงเหนือ” จะเป็นไฮไลท์ของประเทศไอซ์แลนด์ ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องเดินทางมารอชมแล้ว “ทุ่งลาวามอส (Lava field moss)” ก็เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไอซ์แลนด์ ที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่หลายคนอยากจะมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต โดยลาวามอสถือเป็น “พืชอนุรักษ์” ของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกเรียกว่า “วงแหวนทองคำ” เนื่องจากตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติดเหนือ และอยู่ตรงกลางระหว่างแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือและแผ่นเปลือกยูเรเชียน ทำให้ประเทศไอซ์แลนด์เต็มไปด้วยภูเขาไฟจำนวนมาก
iStock
ประเทศไอซ์แลนด์เป็นประเทศเดียวที่สามารถมองเห็น “สันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก (Mid-Alantic Ridge)” หรือหุบเขาแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งการแยกตัวออกจากของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นนี้ ทำให้ประเทศไอซ์แลนด์มีภูเขาไฟจำนวนมาก และมีภูเขาไฟที่ยังตื่นอยู่หลายลูก บางพื้นที่เคยเกิดการปะทุของลาวาจนแห้งแล้ว ก็เกิดสิ่งมีชีวิต “ชนิดเดียว” ที่สามารถเจริญเติบโตได้ ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ นั่นก็คือ “ทุ่งลาวามอส (Lava field moss)”
“ทุ่งลาวามอส” คืออะไร
เมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิดและลาวาก็ไฟลทะลักมาปกคลุมพื้นที่นั้นๆ เมื่อเวลาผ่านไป ลาวาที่เย็นตัวลงก็มี “มอส” ขึ้นปกคลุม จนกลายเป็นเหมือนพรมสีเขียวขนาดยักษ์ โดยทุ่งลาวามอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า “ทุ่งลาวาเอลธรอน (Eldhraun Lava Field)” อยู่ในประเทศไอซ์แลนด์ มีพื้นที่ 565 ตารางกิโลเมตร เกิดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟในปี พ.ศ.2326 – 2327 หรือประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว
Getty Images
ทุ่งลาวามอสมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็น “พืชเริ่มต้น” ที่ขึ้นมาทดแทนป่า เนื่องจากระเทศไอซ์แลนด์มีความเย็นและสูงจากระดับน้ำทะเลมาก ต้นไม้จึงไม่สามารถขึ้นปกคลุมเป็นป่าได้ และมอสจะได้รับผลกระทบหนัก หากโดนเหยียบย่ำซ้ำๆ เพราะจะส่งผลต่อการงอกของลำต้นใหม่
ปัจจุบัน ทุ่งลาวาเอลธรอนได้ทำทางเดินและเชือกกั้นเอาไว้ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปเหยียบย่ำทำลายธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนและรุกล้ำเดินเข้าไปถ่ายรูปกับทุ่งลาวามอสอย่างใกล้ชิด จนหน่วยงานของประเทศไอซ์แลนด์ต้องออกมารณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวทำพฤติกรรมเช่นนั้น เพราะถือเป็นการทำลายธรรมชาติของประเทศไอซ์แลนด์