วันที่ 8 ก.พ. ซีเอ็นเอ็น นำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับการลอบสังหาร นายฌอเวอแนล มออีซ ประธานาธิบดี เฮติ โดยพนักงานสืบสวนที่สืบสวนการลอบสังหารอ้างว่า นายแอเรียล อองรี นายกรัฐมนตรี เฮติ มีส่วนเกี่ยวข้อง และกำลังปกป้องผู้ต้องสงสัยในการจัดตั้งทีมลอบสังหารที่อยู่เบื้องหลังด้วย
นายมออีซถูกยิง 12 นัด เสียชีวิต จากชายติดอาวุธกว่า 20 คน จู่โจมในทำเนียบประธานาธิบดี เฮติ ในช่วงรุ่งสางเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 และ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น นายอองรีเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีรักษาการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายอองรีเพิ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากนายมออีซ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. หรือ 2 วันก่อนนายมออีซเสียชีวิต
ตั้งแต่นั้นมา มีข้อกล่าวหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวนายอองรี แต่ไม่ได้ช่วยสืบสวนความเชื่อมโยงของนายอองรีกับหนึ่งในผู้ต้องสงสัยหลักในการลอบสังหารนายมออีซ เนื่องจากนายอองรีปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
พนักงานสืบสวน 2 คน ในคดีการลอบสังหารนายมออีซ ให้สัมภาษณ์โดยไม่เปิดเผยชื่อกับซีเอ็นเอ็น อ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการล่อจับกุมนายอองรีที่กำลังพบ นายโฌแซ็ฟ เฟลิส บาดีโอ ซึ่งเป็นที่เชื่อว่าจัดตั้งทีมลอบสังหาร
แหล่งข่าวระบุรายละเอียดของปฏิบัติการว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3 นาย จอดรถยนต์ด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดีของนายอองรี ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวง โดยได้รับแจ้งว่า นายบาดีโอ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านการทุจริตที่อยู่ระหว่างการหลบหนีตามหมายจับตำรวจ เฮติ จะพบนายอองรีที่นั่น
พนักงานสืบสวนวางแผนที่จะจับกุมนายบาดีโอขณะออกจากบ้าน และจะจับกุมนายอองรีในวันต่อมาเช่นกัน โดยใช้การพบกันเป็นหลักฐานว่าทั้งสองมีความร่วมมือกัน แต่นายบาดีโอไม่ยอมมา แหล่งข่าวเชื่อว่า นายบาดีโอ หรือนายอองรี คนใดคนหนึ่งน่าจะคนเตือนล่วงหน้า จึงเสียโอกาสที่พนักงานสืบสวนจะจับทั้งสองคาหนังคาเขา
แหล่งข่าวยังนำเสนอตัวอย่างอื่นๆ ของความเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรีเฮติที่เผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนพัวพันในการลอบสังหารประธานาธิบดีคนก่อน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตุลาการ 2 คน ถูกไล่ออกหลังพยายามฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี เฮติ
พนักงานสืบสวนนายหนึ่งให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า “นายอองรีเป็นจุดศูนย์กลางของทุกอย่าง”
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์อ้างว่า นายอองรี และนายบาดีโอ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน โดยรายงานชี้ว่า นายบาดีโอไปหานายอองรีที่บ้านพักส่วนตัวของนายอองรีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน นายอองรีระบุว่า ตั้งใจจะสะสางคดีฆาตกรรมประธานาธิบดีมออีซ โดยให้คำมั่นต่อผู้นำโลกที่การประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ ในเดือนก.ย.ปีที่แล้วว่า “ไม่มีสิ่งไขว้เขวสามารถขัดขวางผมจากเป้าหมายนี้เพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรม”
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการลอบสังหารนายมออีซชะงักงัน โดยซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การสืบสวนน่าจะปิดตาย ขณะที่ไม่มีใครถูกจับกุมเพิ่มเติมอีกเลย ตั้งแต่ผู้ต้องสงสัยหลายสิบคนถูกจับกุมในช่วงหลายสัปดาห์หลังการลอบสังหาร และยังอยู่ควบคุมตัว แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหาๆ
ซีเอ็นเอ็นยังเผยแพร่คำพูดจากบันทึกเสียงที่ซีเอ็นเอ็นตรวจสอบความถูกต้องแล้วว่า เป็นคำพูดของผู้พิพากษา แกรี โอเรลีแย็ง เจ้าหน้าที่ตุลาการระดับสูงซึ่งเพิ่งเข้ามาดูแลคดีนี้ ซึ่งบอกว่า นายอองรีเป็น “ผู้ต้องสงสัยหลัก”
“นายแอเรียล (อองรี) ถูกเชื่อมโยงและเป็นเพื่อนๆ ผู้บงการการลอบสังหาร ซึ่งวางแผนกับนายแอเรียล นายแอเรียลเป็นผู้ต้องสงสัยหลักของการลอบสังหารนายฌอเวอแนล มออีซ และนายแอเรียลรู้เรื่องนี้” คำพูดของผู้พิพากษา แกรี โอเรลีแย็ง จากบันทึกเสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อซีเอ็นเอ็นสอบถามผู้พิพากษาโอเรลีแย็ง เจ้าตัวปฏิเสธว่าเป็นคนพูด แต่ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า น้ำเสียงของผู้พิพากษาโอเรลีแย็งตรงกับบันทึกเสียงอื่นๆ จำนวนมาก
ด้านนายบ็อกกิต เอ็ดมันด์ เอกอัครราชทูตเฮติประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี ว่า นางอองรีไม่ได้ตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับเลือกจากประธานาธิบดีที่ถูกกฎหมายและมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
นายเอ็ดมันด์กล่าวว่า กระบวนการของการเลือกสภาการเลือกตั้ง มีความก้าวหน้าไปมาก และเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามพูดคุยกับนายอองรี และทำงานร่วมกัน โดยเสริมว่าเขายังมองในแง่ดีว่าจะมีการเลือกตั้ง “สิ่งเดียวที่ผมกลัวคือเห็นประเทศของผมไม่ก้าวไปข้างหน้า”
นายเอ็ดมันด์ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ว่านายอองรีไม่ถือเป็นผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากหัวหน้าอัยการสูงสุดของเฮติ (ซึ่งนายอองรีปลดตั้งแต่นั้นมา) ตั้งข้อสังเกตว่า นายอองรีพูดคุยกับหนึ่งในผู้ต้องสงสัยหลักในการลอบสังหารประธานาธิบดีในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเเกิดเหตุ ขณะที่นายอองรีกล่าวมาตลอดว่า ได้รับสายโทรศัพท์จำนวนมากในวันนั้น และจำไม่ได้ทั้งหมด
“เป็นการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง ปล่อยให้เราปล่อยให้เรื่องนี้เข้าสู่ระบบยุติธรรม” นายเอ็ดมันด์กล่าว