เคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่า เวลาที่เราอาบน้ำสระผมมักจะมีผมหลุดร่วงมากเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับการหวีผม หรือการหลุดร่วงในระหว่างวัน บางคนอาจจะมีผมร่วงกองโตจนน่าตกใจ และไม่แน่ใจว่าควรต้องปรึกษาแพทย์หรือไม่่ Tonkit360 มีข้อมูลมาฝากกัน
ทำความเข้าใจ “วงจรชีวิต” ของเส้นผม
จากผลการวิจัยเกี่ยวกับเส้นผม เมื่อปี 2008 พบว่าผมของคนเราจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 0.35 มม./วัน และจะมีการหลุดร่วงประมาณ 100 เส้นในทุกวัน ซึ่งถือเป็นวงจรปกติของผม โดยวงจรชีวิตของผมแบ่งได้เป็น 3 ช่วง
- อนาเจน (Anagen) – ระยะการเติบโตของเส้นผม ซึ่งคิดเป็น 85-90 เปอร์เซ็นต์ของวงจรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2-6 ปี ยิ่งอายุมากขึ้น ระยะการเติบโตของผมก็จะสั้นลง
- แคทาเจน (Catagen) – ระยะที่เส้นผมเติบโตช้าลงและค่อยๆ หยุดการเติบโต โดยใช้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของวงจรทั้งหมด
- เทโลเจน (Telogen) – ระยะที่เซลล์รากผมตายแล้ว และรอการหลุดร่วง พร้อมกันนี้ก็จะมีเส้นผมเกิดใหม่ที่กำลังเข้าสู่ระยะการเติบโตด้วย ก่อนจะดันเส้นผมที่ตายแล้วให้หลุดร่วงไป ซึ่งระยะนี้จะมีอายุไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของวงจรชีวิต
การหลุดร่วงของเส้นผมจะอยู่ในวงจร “เทโลเจน” ดังนั้น หากการหลุดร่วงของผมมีความไม่สมดุล และมีผมเข้าสู่ระยะนี้มากขึ้น ก็จะมีผมร่วงมากขึ้น
ปัจจัยอื่นที่ทำให้ผมร่วงเยอะเวลาสระผม
ก่อนจะสูญเสียความมั่นใจจนต้องไปนับเส้นผมที่ร่วงอยูในห้องน้ำว่ามีมากผิดปกติหรือไม่ ให้ลองดูปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย เพราะหากเข้าข่ายดังต่อไปนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
- เป็นคนผมหนา – หากใครเป็นคนที่ผมดกหรือผมหนา อาจจะพบว่ามีปริมาณผมร่วงมากกว่า 100 เส้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องด้วยคนผมหนาจะมีจำนวนเส้นผมโดยรวมมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว โอกาสที่ผมจะหลุดร่วงจึงมีสัดส่วนที่มากขึ้นตามไปด้วย
- สระผมครั้งล่าสุดเมื่อไร? – เวลาที่เราสระผมด้วยแชมพู และครีมนวดผมนั้น จะเกิดการกระตุ้นหนังศีรษะ ทำให้เส้นผมที่อยู่ในระยะเทโลเจนได้รับการกระตุ้นไปด้วย และพร้อมจะหลุดร่วงออกมา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากสระผมไปแล้ว 2-3 วัน จึงอาจพบผมร่วงในปริมาณที่มากขึ้นได้
- หวีผมครั้งล่าสุดเมื่อไร? – กรณีของการหวีผมก็มีหลักการที่คล้ายคลึงกับการสระผม เพราะการที่แปรงสัมผัสกับหนังศีรษะ ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นหนังศีรษะไปด้วย จึงจะสังเกตเห็นได้ว่าปริมาณผมที่ร่วง หรือผมที่ติดแปรงหวีผมออกมาจะเยอะเป็นพิเศษ
เครียดก็ทำให้ผมร่วงได้!
การปล่อยให้ตนเองมีความเครียดเป็นสาเหตุอีกประการที่ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน ซึ่งจากผลวิจัยเมื่อปี 2017 พบว่า “ความเครียด” จะไปกระตุ้นให้ผมของเราเข้าสู่ระยะเทโลเจนได้มากขึ้น จึงพบว่ามีผมหลุดร่วงเยอะขึ้น เพราะผมอยู่ในระยะที่เซลล์รากผมตายไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เกิดกับร่างกาย เช่น เจ็บป่วย, น้ำหนักตัวลด หรือความเครียดที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ก็ล้วนมีความเชื่อมโยงกับปริมาณเส้นผมที่หลุดร่วงได้
ดังนั้น วิธีที่จะช่วยลดการหลุดร่วงของผมได้ ก็คือการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดความเครียด โดยอาจจะหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพก็ควรทำควบคู่กันไปด้วย ทั้งการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน อาทิ วิตามินเอ วิตามินดี ธาตุเหล็ก ซิงก์ ซีลีเนียม เพื่อช่วยให้ผมมีสุขภาพดีขึ้น
เมื่อไรควรปรึกษาแพทย์?
ถ้าไม่ได้รู้สึกว่าความเครียดทำให้เกิดผมร่วง ก็อาจจะเกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นได้เช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว ผมจะไม่ร่วงเป็นหย่อมๆ แต่จะร่วงทั่วศีรษะ ดังนั้น หากเริ่มสังเกตว่าผมบางลงอย่างเห็นได้ชัด ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ
หรือหากมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรือร่วงหลายจุด แต่ไม่ทั่วศีรษะ ก็อาจเกิดจากโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Alopecia Areata ซึ่งเป็นภาวะแปรปรวนของภูมิคุ้มกันทางผิวหนังที่เกิดจากการเซลล์อักเสบอยู่ล้อมรอบบริเวณรากผม แต่ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ จึงควรพบแพทย์ เพื่อยับยั้งการทำลายรากผม