ทำไมยิ่ง "ลดน้ำหนัก" ถึงยิ่ง "อ้วน"

Home » ทำไมยิ่ง "ลดน้ำหนัก" ถึงยิ่ง "อ้วน"
ทำไมยิ่ง "ลดน้ำหนัก" ถึงยิ่ง "อ้วน"

หลายท่านที่กำลังลดน้ำหนักอาจจะยังสงสัยว่าทำไมยิ่งลดน้ำหนักถึงยิ่งอ้วน วันนี้ พญ. น้ำทิพย์ พันธ์ทิพทวี สูตินรีแพทย์ และ American Board of Anti-Aging Medicine จากคลินิกแอดไลฟ์จะมาไขข้อสงสัยนี้

ก่อนอื่นต้องขอบอกอุปสรรคที่ทำให้อ้วนคือ ความหิว และปัจจัยที่ทำให้เกิดความหิว คือ ฮอร์โมนควบคุมความหิว หรือที่เรียกว่า “Hunger Hormone” มีทั้งหมด 3 ตัวดังนี้

  1. ฮอร์โมนเลปติน (Leptin hormone) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม จะถูกสร้างจากเซลล์ไขมันและถูกกระตุ้นไปสมองทำให้อิ่ม ยิ่งมีไขมันเยอะก็จะมีเลปตินที่เยอะ ในทางตรงกันข้ามในภาวะที่มีเลปตินสูงก็จะทำให้เกิดภาวะดื้อเลปติน ทำให้เลปตินทำงานไม่ได้ เมื่อเลปตินสร้างสารไปกระตุ้นที่สมองจึงทำให้สมองไม่รู้สึกอิ่ม จะพบว่าในคนอ้วนจะมีเลปตินสูงกว่าคนผอมถึง 318 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม และสามารถรับประทานอาหารได้เรื่อย ๆ คล้ายกับคนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีการดื้ออินซูลิน
  2. ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) เป็นฮอร์โมนที่ทำงานตรงกันข้ามกับเลปติน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิวสร้างมาจากกระเพาะอาหาร เมื่อกระเพาะว่างจะส่งสัญญาณไปที่สมองทำให้รู้สึกหิวและรับประทานอาหาร ในคนอ้วนพบว่าเกรลินจะต่ำลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์กว่าในคนผอม จึงทำให้รับประทานอาหารเข้าไปเยอะ อย่างไรก็ตามคนอ้วนก็ยังรับประทานอาหารเยอะ เนื่องจากการทำงานของเลปตินและเกรลินทำงานไม่สมดุลกัน เมื่อมีภาวะดื้อเลปตินจึงไม่รู้สึกอิ่มและทำให้ยิ่งรับประทานอาหารเข้าไป
  3. ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol hormone) หลายท่านอาจจะเคยรู้สึกว่ายิ่งเครียด ยิ่งรับประทานอาหารเยอะ เนื่องมาจากการหลั่งของฮอร์โมนคอร์ติซอล เป็นกลไกป้องกันตนเอง (Defense mechanism) ทำให้ร่างกายเราต้องการพลังงานเพื่อต่อสู้กับความเครียด เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปสมองก็จะรู้สึกผ่อนคลาย มีการหลั่งสารหลั่งออกมาเพื่อสู้กับความเครียดอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเราเครียดก็จะยิ่งรับประทานอาหารเยอะ อีกทั้งยังพบว่าเมื่อคอร์ติซอลสูงยังทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงและเป็นสาเหตุของเส้นเลือดสมองและเส้นเลือดที่หัวใจตีบตันได้

ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนทั้ง 3 ตัวที่กล่าวมาไม่สมดุลทำให้เกิดความรู้สึกหิวและทำให้เราอ้วน มีดังนี้

  1. การอดอาหารหรือการรับประทานอาหารน้อย จากงานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานอาหารที่น้อยกว่า 800 กิโลแคลอรี่ต่อวัน (Very low calories diet) พบว่าฮอร์โมนเลปตินลดลง 40 เปอร์เซ็นต์และทำให้ฮอร์โมนเกรลินสูงขึ้นด้วย ทำให้รู้สึกหิวและเกิดภาวะโยโย่ (Yoyo Effect) ตามมา ยิ่งไปกว่านั้นการอดอาหารหรือการรับประทานอาหารน้อยจะทำให้ร่างกายเสียสุขภาพ ได้แก่ หน้ามืด เป็นลม ภาวะโลหิตจาง กระดูกบาง มีสมาธิในการเรียนหรือในการทำงานลดลง เพราะฉะนั้นการลดน้ำหนักที่ถูกวิธี ไม่ใช่การอดอาหารแต่เป็นการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกวิธีและปริมาณที่เหมาะสม การลดน้ำหนักที่ถูกต้องคือการลดไขมัน โดยไม่ทำให้กล้ามเนื้อสลายหรือกระดูกบางลง จากงานวิจัยพบว่า ไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมต่อเดือน เพราะจะทำให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย อีกทั้งร่างกายมนุษย์มีกลไกป้องกันตนเอง ยิ่งเราอดอาหารมากขึ้นเท่าไร ระบบการเผาผลาญเรายิ่งต่ำลง ทำให้เราอ้วนง่ายขึ้น
  2. การอดนอน จากงานวิจัยพบว่าถ้าเรานอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมง ระดับเลปตินจะลดลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ถ้านอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ระดับเกรลินก็จะเพิ่มขึ้นถึง 32 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอดนอน 1 วัน คอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดก็จะสูงขึ้นถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการอดนอนจึงเป็นการเพิ่มฮอร์โมนหิว ลดฮอร์โมนอิ่ม ทำให้ยิ่งรับประทานอาหารเยอะ อีกทั้งฮอร์โมนเครียดที่สูงขึ้นเยอะจะทำให้แก่อีกด้วย ดังนั้นจึงควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 ถึง 8 ชั่วโมง เพื่อเป็นการควบคุมให้ระดับฮอร์โมนมีความสมดุล
  3. ความเครียด เมื่อมีความเครียดฮอร์โมนคอร์ติซอลจะสูงขึ้นและทำให้เกิดภาวะดื้อเลปตินตามมา ทำให้เรายิ่งหิว

วิธีที่จะช่วยลดการรับประทานเมื่อเกิดภาวะเครียด มีอยู่ทั้งหมด 4 วิธี หากทำได้ทั้งหมด 4 ข้อ ก็จะทำให้ระดับความเครียดลดลง ทำให้ไม่หิว

  1. ทำจิตใจให้สงบ เช่น สวดมนต์ เล่นโยคะ ฝึกลมหายใจให้ผ่อนคลาย
  2. นอนหลับให้เพียงพอ
  3. ห้ามทานขนมเมื่อรู้สึกเครียด อาจจะหาเป็นกาแฟดำหรือน้ำชา รับประทานแทน
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ