ทำไมทหารผ่านศึกกูรข่าจึงประท้วงอดอาหารรัฐบาลอังกฤษกลางกรุงลอนดอน

Home » ทำไมทหารผ่านศึกกูรข่าจึงประท้วงอดอาหารรัฐบาลอังกฤษกลางกรุงลอนดอน
ทำไมทหารผ่านศึกกูรข่าจึงประท้วงอดอาหารรัฐบาลอังกฤษกลางกรุงลอนดอน

นับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ปีนี้ เป็นต้นมา กลุ่มทหารผ่านศึกของอังกฤษที่เป็นชาวกูรข่าจำนวนหนึ่งได้ไปปักหลักประท้วงด้วยการหมุนเวียนกันนั่งอดอาหารในช่องว่างระหว่างอาคารที่ศูนย์ราชการบริเวณถนนไวท์ฮอล ตรงข้ามกับบ้านประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลขที่ 10 ถนนดาวนิง เพื่อเรียกร้องเงินบำนาญที่เท่าเทียมกับทหารอังกฤษ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากคนอังกฤษอย่างแข็งขัน

แต่รัฐบาลอังกฤษโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ยังปฏิเสธที่จะพิจารณาการเรียกร้องจากกลุ่มทหารผ่านศึกของอังกฤษชาวกูรข่านี้อยู่แม้ว่าจะมีทหารผ่านศึกกูรข่าคนหนึ่งต้องถูกส่งโรงพยาบาลด้วยอาการของหัวใจวายแล้วก็ตาม

การประท้วงของทหารผ่านศึกกูรข่าที่เป็นข่าวใหญ่ระดับโลก ก็เพราะชื่อเสียงอันลือกระฉ่อนของทหารกูรข่าที่เคยมีอดีตทหารกูรข่าที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ วิคตอเรีย ครอส อันเป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดของจักรวรรดิอังกฤษรวมอยู่ด้วยถึง 13 นาย และเรื่องราววีรกรรมของทหารกูรข่าล้วนแล้วแต่เป็นตำนานที่เกริกไกรในความกล้าหาญในการรบเกินมนุษย์สามัญ ความซื่อสัตย์ ภักดีต่อเพื่อนพ้องอันเป็นคุณธรรมที่น่าสรรเสริญยิ่ง

ประวัติความเป็นมาของทหารกูรข่าพอสังเขปมีดังนี้คือ เมื่อบริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษเข้าปกครองอินเดียด้วยกำลังทหารรับจ้างชาวอินเดีย แต่บังคับบัญชาโดยใช้ระเบียบวินัยตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ก้าวหน้าแบบยุโรปและการจัดองค์การทางทหารที่มีประสิทธิภาพจนสามารถปราบอินเดียได้ราบคาบทั้งหมด

แต่เมื่ออังกฤษรุกต่อมาถึงดินแดนบริเวณตีนเขาหิมาลัยที่เป็นราชอาณาจักรเนปาล ปรากฎว่ากองทัพอังกฤษได้เจอการต่อสู้แบบไม่กลัวตายของชาวกูรข่าทุกคนผู้มีเพียงมีดโค้งยาว 18 นิ้ว เรียกว่ามีดคูกรีเล่มเดียวในการรบชิงแผ่นดินบริเวณตอนใต้ของเนปาล รบนานยืดเยื้อเกือบ 2 ปี ทำให้ทางการอังกฤษประทับใจชื่นชมในความเก่ง กล้าหาญไม่กลัวตายของนักรบภูเขาจอมทรหดเหล่านี้

ดังนั้นในปี 2358 อังกฤษจึงยอมอ่อนข้อให้ราชอาณาจักรเนปาลเป็นพิเศษทำสัญญาสันติภาพกับเนปาลโดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่ทางการเนปาลอนุญาตให้นำเด็กหนุ่มจากชนเผ่ากูรข่านี้ไปฝึกเป็นทหารรับจ้างในกองทัพอังกฤษ จึงจุดเริ่มต้นของทหารกูรข่าในกองทัพอังกฤษ ในช่วงแรกทหารกูรข่าเป็นทหารรับจ้างในบริษัทอีสต์อินเดีย เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐบาลอังกฤษที่มาทำการค้าในทวีปเอเชีย

เมื่อได้พิสูจน์แล้วว่าทหารเหล่านี้ มีประสิทธิภาพสูงและค่าใช้จ่ายไม่แพงจึงเริ่มบรรจุเป็นทหารประจำการในปี 2401 โดยทางการอังกฤษนำทหารกูรข่าไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักรบจากภูเขาเหล่านี้บาดเจ็บเสียชีวิตราว 20,000 นาย และได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดราว 2,000 นายในสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษ นำทหารกูรข่าไปรบกับทหารเยอรมันในอิตาลี และส่งทหารกูรข่าไปรบกับทหารญี่ปุ่นในพม่า แม้แต่สงครามเกาะฟอล์กแลนด์ตลอดจนสงครามอัฟกานิสถานและสงคราอิรัก ทหารกูรข่าก็ต้องรบเป็นแนวหน้าเพื่ออังกฤษในทุกสงคราม

ทหารกูรข่าได้รับค่าจ้างราคาถูกกว่าการจ้างคนอังกฤษเป็นทหารถึง 10 เท่า และต้องเป็นทหารประจำการณ์อย่างน้อย 15 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญแต่ก็ได้รับเพียง หนึ่งในสามของเงินบำนาญที่ทหารอังกฤษได้ เนื่องจากทางการอังกฤษอ้างว่าค่าครองชีพที่เนปาลถูกกว่าที่อังกฤษมากซึ่งบรรดาทหารเก่ากูรข่าก็ได้ร้องเรียนเรื่อยมา

จนกระทั่งปี 2550 ทางการอังกฤษจึงยอมขี้นเงินบำนาญให้แก่ทหารกูรข่าให้เท่ากับทหารอังกฤษ แต่ใช้ปี 2550 เป็นตัวตัดกำหนดเวลานะครับ ทำให้บรรดาทหารกูรข่าที่ปลดประจำการณ์ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ นี่แหละครับที่เป็นสาเหตุที่กลุ่มทหารผ่านศึกของอังกฤษที่เป็นชาวกูรข่าจำนวนหนึ่งได้ไปปักหลักประท้วงด้วยการหมุนเวียนกันนั่งอดอาหารในช่องว่างระหว่างอาคารที่ศูนย์ราชการบริเวณถนนไวท์ฮอลตรงข้ามกับบ้านประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลขที่ 10 ถนนดาวนิง เพื่อเรียกร้องเงินบำนาญที่เท่าเทียมกับทหารอังกฤษอยู่ในเวลานี้นั่นเอง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ