-
โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส และ ไข้หวัดใหญ่ มีอาการคล้ายคลึงกับโรคโควิด-19 คือ ไข้สูง ไอ หอบ หายใจลำบาก ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอ ซึ่งค่อนข้างแยกออกจากโรคโควิด-19 ได้ยาก
-
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ใหญ่ ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน IPD) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เสริมได้หลังฉีดวัคซีน โควิด-19 โดยเว้นระยะห่างจากการฉีด อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
ในช่วงเวลานี้สิ่งที่หลายๆ คนรอคอยคงจะเป็นการได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเร็วที่สุด เพราะเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และชีวิตของทั้งคนไทยและทั่วโลก แต่ความจริงแล้วยังมีวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่ควรจะฉีดนอกเหนือจากวัคซีนโควิด-19
ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19
พญ. สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า จากคําแนะนําการฉีดวัคซีนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำว่า “ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนให้ได้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด เพราะการเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปนั้น อาจทําให้โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคหัด โรคโปลิโอ และ ไข้หวัดใหญ่ อาจกลับมาระบาดได้ และส่งผลให้ภาระของระบบบริการทางสาธารณสุขที่ตึงเครียดจากโรคโควิด-19 อยู่แล้ว มีมากขึ้นไปอีก” ดังนั้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรได้รับวัคซีนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่สุด2
ข้อดีของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ตามกำหนด
- จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งอาจทําให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
- ลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อร่วม (co-infection) กับโรคโควิด-19 เช่น ไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
- ลดภาระของระบบสาธารณสุขในภาพรวม
แต่หากกังวลว่าการมารับวัคซีนที่โรงพยาบาลอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 ทั้งระหว่างการเดินทางและขณะที่อยู่ที่สถานพยาบาล ช่วงเวลาในการให้วัคซีนส่วนใหญ่จึงยังสามารถยืดหยุ่นได้ เช่น วัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็ก สามารถเลื่อนได้ 1สัปดาห์-1 เดือน แต่หากไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามกำหนด ก็ควรรีบมาฉีดให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
วัคซีนที่ควรต้องฉีดตามกำหนด
ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำในทิศทางเดียวกันว่าไม่ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนเหล่านี้ ได้แก่
- วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคหัด โรคอีสุกอีใส และโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น เช่น ถ้าโดนสัตว์กัด การไม่ฉีดวัคซีนทันทีอาจจะเสี่ยงที่จะติดเชื้อจนมีอันตรายต่อชีวิตได้
- วัคซีนสําหรับทารกแรกเกิด ได้แก่ วัคซีนบีซีจี และวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี เข็มแรกเกิด ควรฉีดให้ทารกแรกคลอดที่เกิดหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน เพราะเด็กแรกเกิดภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก
- วัคซีนในผู้ใหญ่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน IPD) และ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ
- เพราะไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดทุกปี ตัวไวรัสจะไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย จนทำให้อ่อนแอลงและเกิดการติดเชื้ออื่นๆ อย่างเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเข้ามาได้ง่ายขึ้น
- พบการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากถึง 59.5% ในประเทศจีน (จากการเก็บข้อมูลในคนไข้โรคโควิด-19 257 คน ในจังหวัด Jiangsu ตั้งแต่ 22 ม.ค.-2 ก.พ. 2020)
- โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส และ ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย โดยอาจรับเชื้อจากการสัมผัสละอองการไอและจามของผู้ป่วย ทั้งสองโรคนี้มีอาการคล้ายคลึงกับโรคโควิด-19 คือ ไข้สูง ไอ หอบ หายใจลำบาก ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอ ซึ่งค่อนข้างแยกออกจากโรคโควิด-19 ได้ยาก หากต้องการทราบแน่ชัดว่าเป็นโรคอะไรควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติม
- โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านเหมือนไข้หวัดทั่วไปได้ เป็นโรคที่มีความรุนแรง บางรายมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยมักต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือนอนในห้อง ICU
วัคซีนในผู้ใหญ่มีความปลอดภัยหรือไม่
ทั้งวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกมานาน อาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ได้ มีข้อห้ามใช้กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
ผู้ใหญ่กลุ่มไหนที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
กลุ่มเสี่ยงสูงในการติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงจากเชื้อ COVID-19 ได้แก่
- ผู้สูงอายุ วัย 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
วัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรรับการฉีดวัคซีนอย่างไร
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่: ฉีด 1 เข็ม ทุกปี
- วัคซีนโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส: ฉีดวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ก่อน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง และอยู่นาน แล้วเว้นระยะห่าง 1 ปี ฉีดวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสสามารถฉีดวันเดียวกันได้