สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ แนะผู้สูงอายุปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ควบคุมน้ำหนัก หมั่นออกกำลังกาย ลดอาหารเค็ม ทำจิตใจให้ผ่องใส งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตลอดจนรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัด
ความดันโลหิตสูง เป็นอย่างไร?
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
สาเหตุของความดันโลหิตสูง
สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 จะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุได้แก่ ความอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีความดันโลหิตสูงมาก่อน ส่วนผู้ป่วยอีกร้อยละ 5 มีสาเหตุที่แพทย์ตรวจพบ เช่น โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบประสาท การได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด
อาการของความดันโลหิตสูง
ในระยะแรกที่โรคยังไม่รุนแรง จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่เด่นชัด อาจมีอาการเวียนศีรษะเป็นๆ หายๆ หลังจากนั้นจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณท้ายทอยช่วงเช้าหลังตื่นนอน คลื่นไส้ อาเจียน โดยไม่ทราบสาเหตุ หากเป็นมากจะมีเลือดกำเดาไหล หอบ นอนราบไม่ได้ และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
การรักษาความดันโลหิตสูง
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ได้แก่
- รักษาด้วยการไม่ใช้ยา โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ไม่ทานอาหารเค็ม ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความอ้วน งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ ตลอดจนการฝึกสมาธิ ฝึกจิตไม่ให้เครียด
- รักษาด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยต้องไม่หยุดยาเองเป็นอันขาด เนื่องจากยาที่ใช้มีความปลอดภัยสูงสามารถกินต่อเนื่องได้เป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต และการรักษาเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ยกเว้นเมื่อทานยาลดความดันโลหิตที่เพิ่งได้มาใหม่ แล้วมีอาการไม่สบาย โดยเฉพาะมึนงง หน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนยาใหม่
ผู้สูงอายุความทำอย่างไร เมื่อเป็นความดันโลหิตสูง
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่
1.1 ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้พอดี คนที่มีน้ำหนักตัวมากควรลดน้ำหนัก เพราะจะช่วยลดความดันลงได้ โดยควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกาย
1.2 ออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เดินเร็วก้าวยาว ๆ ท่าบริหารร่างกายแบบง่ายๆ ควรเริ่มต้นทีละน้อยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจะทำให้หัวใจและปอดทำงานดีขึ้น ช่วยการสูบฉีดโลหิตหมุนเวียนทั่วร่างกาย และหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ข้อต่อต่างๆ
1.3 ลดอาหารเค็ม ควรเลือกอาหารที่ใส่เกลือหรือน้ำปลาน้อยที่สุด รวมทั้งงดรับประทานผงชูรส ป้องกันอาการท้องผูก โดยการรับประทานผัก ผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำให้พอเพียง และ ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันและคลอเลสเทอรอลต่ำ มีเส้นใยอาหารสูง
1.4 ทำจิตใจให้ผ่องใส ปล่อยวาง เพื่อลดความเครียด
1.5 งดสูบบุหรี่เด็ดขาด เพราะบุหรี่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเร็วขึ้นและยังทำให้ดื้อต่อยาที่รักษา
1.6 งดดื่มเหล้า เพราะแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
1.7 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ - รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ไม่ควรหยุดยาหรือปรับยาด้วยตนเอง