ผู้สูงวัยอาจพบภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะเริ่มหย่อนสมรรถภาพตามวัยทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คืออะไร?
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานประกอบด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีรูปร่างเป็นแผ่นบางๆ คอยยึดอวัยวะ เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและมีหน้าที่อั้นปัสสาวะ
วิธีบรรเทาอาการและป้องกันภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
รศ. นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำวิธีบรรเทาอาการ และป้องกันภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เอาไว้ดังนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
- ก่อนเข้านอน 3-4 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำให้น้อยลง
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ป้องกันท้องผูก
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดการไอ จาม เช่น กลิ่นบุหรี่ ฝุ่นละออง
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- นั่งเก้าอี้ในท่าที่รู้สึกสบาย ยกมือทั้งสองข้างระดับหน้าอกและกำลูกบอลไว้ในมือ
- เกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานพร้อมบีบลูกบอลไว้ 10 วินาที
- เมื่อครบ 10 วินาที ให้ผ่อนคลายจากท่าเกร็ง และคลายมือจากการบีบลูกบอลพร้อมนับ 10 วินาที นับเป็น 2 ครั้ง
- ทำท่าบริหารนี้ 60 ครั้งต่อวัน สามารถแบ่งทำได้ 3 ช่วงเวลา เช่น เช้า กลางวัน และเย็น ช่วงเวลาละ 20 ครั้ง
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้สูงอายุควรฝึกการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทุกวัน เพราะสามารถช่วยลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ แต่หากมีอาการที่รุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ