การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” เปลี่ยนแปลงโลกไปทุกมิติรวมถึงกีฬา ที่จะต้องปรับตัวสู่ความปกติวิถีใหม่ หรือ New Normal (นิว นอร์มอล)
วงการกีฬาเมืองไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นหัวหอกในการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทาง และรูปแบบปฎิบัติในการดำเนินกิจกรรมกีฬา New Normal Sports เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของวงการกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2564 วงการกีฬาของไทยจะมีการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาหลากหลายมหกรรม อาทิ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 “ช้างขาวเกมส์” ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม -5 มิถุนายน 2564 กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 3 “ตราดเกมส์” ระหว่างวันที่ 8 -14 มิถุนายน 2564 กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 5 กันยายน 2564 ต่อเนื่องด้วยกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “นครลำดวนเกมส์” ระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2564
เช่นเดียวกันปี พ.ศ.2565 จะมีการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “พัทลุงเกมส์” / กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 4 “เสกักเกมส์” / กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 48 “กาญจนบุรีเกมส์” ต่อเนื่องไปจนถึงกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 38 “เมืองกาญจน์เกมส์” ในปี พ.ศ. 2566
มหกรรมกีฬาในประเทศเหล่านี้ถือเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทยแต่ละกลุ่ม ดังนั้นการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงต้องวางแนวทางป้องกัน และมาตรการการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาในประเทศรูปแบบ “นิว นอร์มอล” ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักกีฬา กลุ่มผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรทางการกีฬาทุกองคาพยพที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬารายการต่างๆ
หลายคนอาจยังไม่เข้าใจในรูปแบบของการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแบบ “นิว นอร์มอล” ว่าเป็นอย่างไร…? มีรูปแบบดำเนินการลักษณะใด…? ผู้ที่จะมาอธิบายคำจำกัดความของการจัดกีฬารูปแบบ “นิว นอร์มอล” ได้ดีที่สุดนั่นคือ “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
ดร.ก้องศักด ยอดมณี เริ่มอธิบายว่า “คอนเซ็ปต์ของนิวนอร์มอล สปอร์ต ต้องเข้าใจก่อนว่า กีฬาคือกีฬา กีฬาประกอบไปด้วย ผู้เล่น ผู้ชม ผู้เชียร์ แต่หลังจากที่เราเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19″ เราจะได้ยินคำว่า นิว นอร์มอล กันในทุกๆ วงการ สำหรับกีฬาก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง เราจะมีวิถีกีฬาใหม่ หรือว่า นิวนอร์มอล ในการจัดการแข่งขันกีฬาซึ่งมีพัฒนาการเกิดมาจากโควิด-19 แต่ก่อนเราไม่เคยมีความคิดเรื่องของการจำกัดคนดู ไม่เคยมีความคิดเรื่องการจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เรื่องของมาตรการสาธารณสุขต่างๆ เราจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ การจัดการแข่งขันกีฬาจะมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป บางชนิดกีฬาสัมผัสกันโดยตรง บางชนิดกีฬาไม่ต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในกฎ กติกา บางกีฬาเราจัดในแบบมหกรรม บางกีฬาเราจัดแบบเดี่ยวๆ จะอยู่ภายใต้กฎ กติกา คนละแบบกันอีก”
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยากลำบากพอสมควรในการจัดทำคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง เรามีกีฬาในความรับผิดชอบภายใต้สมาคมกีฬา “แห่งประเทศไทย” 80 กว่าชนิดกีฬา เพราะฉะนั้นเราจะมีคู่มือ 80 กว่าคู่มือ ทางหน่วยงาน กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข มานั่งคุย มานั่งถกเถียงกันจนได้คู่มือแต่ละชนิดกีฬา นอกจากคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแล้ว เราก็ต้องปฏิบัติตามภายใต้มาตรการประกาศต่างๆ ของภาครัฐซึ่งมีอยู่ 4-5 ฉบับ และประกาศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย นอกเหนือจากกฎ กติกาสากลที่กำหนดจากสหพันธ์กีฬานานาชาตินั้นๆ แล้ว ผู้จัดกีฬาต้องมาคำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ ตามคู่มือที่เราได้ผลิตกันขึ้นมาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 “
“บิ๊กก้อง” บอกต่อไปว่า คอนเซ็ปต์ในการใช้กับการจัดมหกรรมกีฬานั้น ต้องยอมรับปัจจุบันไม่เคยมี เราจะมีรูปแบบของการจัดกีฬาเดี่ยวๆ เช่น การจัดวิ่ง การจัดแบดมินตัน การจัดฟุตบอล ประเทศไทยเราจัดไปแล้วภายใต้การระบาดของโควิด-19 หรือแม้กระทั่งมวยก็เริ่มจัดแล้ว แต่สำหรับในแบบที่เป็นมหกรรมกีฬาเรากำลังจะจัดในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 “ช้างขาวเกมส์” เป็นที่แรก ซึ่งจะมีความซับซ้อนกว่าการจัดกีฬาทั่วๆ ไปเนื่องจากมหกรรมกีฬาจะมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ทุกชนิดกีฬาจะมาแข่งขันในห้วงเวลาเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราต้องวางมากตรการเฉพาะสำหรับการจัดมหกรรมกีฬา ซึ่งตอนนี้เรามีคู่มือเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เราเน้นคือ ทำยังไงไม่ให้มีการรวมตัวกันในจังหวะเดียวกัน เช่น พิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน ซึ่งเดิมเราไม่ได้จำกัดแต่คราวนี้เราได้จำกัดแล้ว เราจะมีมาตรการเรื่องของการเว้นระยะ มีเรื่องการใช้แอลกอฮอล์ เรื่องของการกำชับการใส่หน้ากากอนามัย รูปแบบก็จะเรียบง่ายขึ้น ลดการสัมผัส รวมถึงเรื่องของการกินอยู่ด้วย
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า มหกรรมกีฬานั้น นักกีฬาทุกจังหวัดเดินทางมารวมตัวกัน เราเลยมีมาตรการเรื่องของการขยายห้วงเวลาแข่งออกไปแทนที่เมื่อก่อนเราจัด 7-10 วัน เราขยายออกไปเพื่อลดการแออัด นอกจากนั้นสถานที่แข่งขันก็สำคัญเราพยายามใช้มาตรการใหม่ สนามแข่งขันกับสถานที่พัก และสถานที่กินของนักกีฬาให้อยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ต้องมีการเดินทางมาก ไม่ต้องมีการไปสัมผัสสิ่งต่างๆ มาก เราจัดระเบียบใหม่ เราจะมาแบ่งกลุ่มชนิดกีฬาประเภททีม กีฬาต่อสู้ กีฬาบุคคล เพื่อให้มีการกระจายระยะเวลาไป เช่นช่วงแรกอาจจะแข่งกีฬาประเภททีม ช่วงที่สองแข่งกีฬาบุคคล ช่วงที่สามแข่งกีฬาต่อสู้ เป็นต้น ซึ่งเราจะมีการจัดระบบใหม่ รวมไปถึงการกระจายไปจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย เช่น จ.ตราด ที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เราก็ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงโดยเฉพาะ จ.จันทบุรี รับเป็นเจ้าภาพในหลายชนิดกีฬา ชนิดกีฬาทั้งหมดที่แข่งที่ จ.ตราด ประมาณ 47 ชนิดกีฬา แต่ก็จะแบ่งไปจัดที่ จ.จันทบุรี, จ.ระยอง, กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ การจัดมหกรรมกีฬาในวิถีใหม่นิวนอร์มอล
“หัวใจหลักเลยคือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง กกท.ได้พูดคุยกับทางจังหวัดตราด รวมถึงท้องถิ่นตราด และสาธารณสุขตราด ซึ่งเราถามไปก่อนเลยว่า จ.ตราด มีศักยภาพด้านสาธารณสุขที่จะรองรับคนในเวลาเดียวกันในปริมาณเท่าใด ถ้าสาธารณสุขตราดบอกว่า มีความเสี่ยงที่จะรับคนได้เยอะๆ เช่นบอกว่า รับได้ครั้งละ 2,000 คน เราก็ต้องกลับมาวางแผนกันเพราะเราไม่สามารถให้คนหมื่นกว่าคนมาในจังหวะเดียวกัน มากิน มาอยู่ มาใช้ชีวิตในจังหวัดตราดพร้อมกันเพราะจะไปเพิ่มความเสี่ยง เลยเป็นที่มาของการมาวางแผนกันจัดระเบียบใหม่ ยืดเวลาออกไป กระจายพื้นที่ออกไป จัดกลุ่มกีฬาให้เป็นหมวดหมู่ในการจัดแข่งขัน สำหรับกีฬาเยาวชนแห่งชาติค่อนข้างมีความซับซ้อน นักเรียนปกติจะต้องเรียนหนังสือ ปกติจะมาแข่งกีฬาในช่วงเวลาไม่ยาวนักเพราะทุกคนต้องกลับไปเรียนหนังสือ และที่สำคัญนักเรียนจะมีกองเชียร์คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง สิ่งที่เราทำก็ต้องทำความเข้าใจกับนักกีฬา กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย คราวนี้เราอาจต้องขอความร่วมมือในการจำกัดคน เดิมเคยมากันเป็นครอบครัวใหญ่ คราวนี้ก็อยากให้ลดจำนวนลง” ผู้ว่าการ กกท. กล่าว
ดร.ก้องศักด ยอดมณี กล่าวต่อไปว่า หวังว่าการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการต่อไปในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 5 กันยายน 2564 เราจะได้มีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นหลังจากประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นความเสี่ยงก็จะลดลงไปด้วย มาตรการสาธารณสุขเราหย่อนไม่ได้อยู่แล้วคงจะต้องเข้มข้นเหมือนเดิม สิ่งที่เรากังวลคือ ถ้ามีการติดเชื้อขึ้น ตนยอมรับว่าไม่อยากจะเห็นภาพว่ากีฬาไปก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติเพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ด้านสาธารณสุขเรายังต้องยึดเป็นลำดับแรก แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ต้องติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวันเลย สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ความต่อเนื่องถ้าเรามีสถานการณ์โควิด-19 เราไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ความต่อเนื่องในการพัฒนานักกีฬาจะหยุดชะงักไป เช่น นักกีฬาได้แต่ซ้อมอยู่ที่บ้านจะไม่เหมือนได้ลงสนามแข่งจริง ทั้งเรื่องของบรรยากาศ ประสบการณ์ต่างๆ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่สามารถจัดมหกรรมกีฬา เพราะฉะนั้นสิ่งที่มหกรรมกีฬาจะเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนต่อวงการกีฬาคือ เรื่องของการพัฒนานักกีฬาซึ่งเราตั้งเป้าว่าเราจะต้องช่วงชิงอันดับ 1 ในอาเซียนให้ได้ เราจะต้องเป็นประเทศชั้นนำในทวีปเอเชีย ติดอันดับ 6 ของเอเชียให้ได้ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีมหกรรมกีฬา มีรายการแข่งขัน แม้แต่เราไปแข่งที่ปรับรูปแบบมาเป็นแบบออนไลน์ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน บรรยากาศภายใต้การแข่งขันจริง เราใช้มาตรการภายใต้นิวนอร์มอลแบบนี้แต่พยายามจัดอีเวนต์กีฬา มหกรรมการแข่งขันให้ได้ ซึ่งก็ได้ประโยชน์ทางด้านกีฬาแล้วสิ่งที่ชัดเจนก็คือ เรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้เพราะจะเกิดการหมุนเวียนของเงินทันที เช่น กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ผ่านมาเรามีเงินหมุนเวียนประมาณ 800-900 ล้านบาท ถ้าเป็นกีฬาแห่งชาติ จะขยับตัวเลขขึ้นไปอีกเป็นหลักพันล้าน ตรงนี้คือ ประโยชน์ที่ได้จากการจัดมหกรรมกีฬา
ขณะเดียวกัน กกท. ยังวางแผนในการจัดตั้ง “สปอร์ต ควอรันทีน” สถานที่สำหรับนักกีฬาที่ต้องเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ และเมื่อเดินทางกลับเข้ามาต้องทำการกักตัว 14 วัน ก็สามารถกักตัว และทำการฝึกซ้อมได้ต่อเนื่อง ที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยจะเปิดให้บริการสำหรับบุคลากรทางการกีฬาเท่านั้นอีกด้วย
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ขยายความเรื่องการจัดตั้ง “สปอร์ต ควอรันทีน” ว่า ตอนนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข และอยู่ในช่วงการตรวจความเรียบร้อย เตรียมพร้อมที่จะเปิดใช้งาน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 โดย กกท. ต้องจัดคิวและลำดับของนักกีฬาแต่ละประเภทแต่ละชนิดที่จะต้องเดินทางออกไปแข่งที่ต่างประเทศให้ดี เพราะจะได้รองรับนักกีฬาได้อย่างเพียงพอ ตอนนี้มีรายการแข่งขันต่างประเทศยกเลิกไปอยู่พอสมควรจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงคิดว่า ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพียงพอกับนักกีฬา แต่ถ้าหากว่ามีรายการแข่งขันไหนที่ซ้อนกัน นักกีฬาต้องออกไปแข่งแล้วทำการกักตัวพร้อมกันก็จะดูลำดับสำคัญ เรามีที่พัก เรามีสนามฝึกซ้อมให้กับนักกีฬา เรามีอุปกรณ์กีฬาที่ทันสมัย รองรับในช่วงที่นักกีฬาต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ นักกีฬาเหล่านี้จะได้ฝึกซ้อมกีฬาพร้อมๆ กับการกักตัวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และยังเป็นการรักษาสภาพร่างกายนักกีฬาด้วย
นี่คือแผนการล่าสุดที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ต้องปรับตัวภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19”
นี่คือ แผนในการจัดการแข่งขันกีฬาในวิถีใหม่ “นิว นอร์มอล” ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวงการกีฬาเมืองไทย…