ทำความรู้จัก "งูกะปะ" งูพิษอันตรายในไทย มีผลต่อระบบเลือด เสี่ยงเนื้อตาย-แผลเน่า

Home » ทำความรู้จัก "งูกะปะ" งูพิษอันตรายในไทย มีผลต่อระบบเลือด เสี่ยงเนื้อตาย-แผลเน่า
ทำความรู้จัก "งูกะปะ" งูพิษอันตรายในไทย มีผลต่อระบบเลือด เสี่ยงเนื้อตาย-แผลเน่า

ข่าวคนโดนงูกัดผ่านมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และสร้างความหวาดกลัวในกับคนในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก ล่าสุดก็มีข่าวหนุ่มโดน “งูกะปะ” กัด ต้องนอนโรงพยาบาลถึง 9 วัน 9 คืน จนชาวเน็ตต่างอยากรู้ว่า “งูกะปะ” นี้มีพิษร้ายแรงมากแค่ไหน แล้วต้องสังเกตงูชนิดนี้อย่างไร จึงจะปลอดภัยกับตัวเอง ซึ่ง Sanook ขอทำหน้าที่พาทุกคนไปทำความรู้จัก “งูกะปะ” งูพิษอันตรายที่สุดในไทยชนิดนี้กัน

“งูกะปะ” คืออะไร

งูกะปะ คือ งูพิษที่มีพิษอันตรายต่อระบบเลือด และเป็นงูพิษที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดที่พบในประเทศไทย มีลักษณะหัวเป็นรูปสามเหลี่ยม คอเล็ก ลำตัวอ้วน หางเรียวสั้น มีลายเป็นรูปเหมือนหลังคาบ้านอยู่ด้านข้างตลอดลำตัว มีสีเทาอมชมพู ลายสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดมีขนาดใหญ่ และจะงอยปากงอนขึ้นข้างบน ความยาวเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 1 เมตร

งูกะปะมักออกหากินในเวลาพลบค่ำและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลาที่มีความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก โดยอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีดินปนทราย มีใบไม้หรือเศษซากไม้ทับถมกันเพื่อซ่อนตัว และด้วยลวดลายกับสีสันของงูกะปะนี่เอง จึงทำให้พวกมันดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม งูกะปะเป็นงูที่ไม่ปราดเปรียว เวลาตกใจจะงอตัวหรือขดนิ่ง แต่งูกะปะฉกกัดรวดเร็วมาก 

พิษร้ายแรงของงูกะปะ

คำว่า “กะปะ” ในภาษาใต้แปลว่า “ปากเหม็น” ซึ่งหมายถึง แผลของคนที่โดนงูกะปะกัดจะเน่าเหม็น โดยงูกะปะถูกจัดเป็น 1 ใน 7 งูพิษที่มีความสำคัญต่อวงการแพทย์และพิษวิทยา ทั้งนี้ งูพิษที่มีอันตรายต่อมนุษย์มาก พิษของมันมีผลต่อระบบเลือด ทำให้เลือดออกมาผิดปกติ หลังโดนกัดภายในเวลา 10 นาที บริเวณรอยแผลที่ถูกกัดจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว และตรงรอยเขี้ยวจะมีเลือดไหลตลอดเวลา ส่วนตรงที่บวมก็จะมีสีเขียวคล้ำ ผิวหนังพอง ตอนแรกจะเป็นน้ำใสๆ แต่ภายหลังมีเลือด

ไม่กี่วันหลังจากโดนกัด บริเวณรอยเขี้ยวจะเกิดการเน่า ทำให้ผิวหนังมีเลือดออก เป็นรอยคล้ำ และอาจเสียชีวิตได้จากอาการความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดนั่นเอง 

งูกะปะกัดต้องทำอย่างไร

หากโดนงูกะปะกัด ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล หรือสมุนไพรใดๆ
  • พยายามบีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม
  • การรัดแผล ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ ซึ่งจุดประสงค์ไม่ใช่เป็นการห้ามพิษงูเข้าสู่หัวใจ แต่เพื่อให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง
  • พยายามเคลื่อนที่ให้น้อยที่สุด
  • วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำกว่าหรืออยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
  • ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดโดยกดแผลโดยตรง
  • รีบนำส่งโรงพยาบาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ