ทารกในครรภ์ของมัมมี่ “สตรีปริศนา” เก่าแก่ 2,100 ปี ไม่เน่าเปื่อยเพราะถูกดองด้วยกรดธรรมชาติ

Home » ทารกในครรภ์ของมัมมี่ “สตรีปริศนา” เก่าแก่ 2,100 ปี ไม่เน่าเปื่อยเพราะถูกดองด้วยกรดธรรมชาติ



เมื่อปีที่แล้วทีมนักวิจัยของโครงการมัมมี่วอร์ซอว์ (Warsaw Mummy Project – WMP) ที่ประเทศโปแลนด์ เผยการค้นพบมัมมี่อียิปต์ที่ได้ฉายาว่า “สตรีปริศนา” อายุเก่าแก่ 2,100 ปี ซึ่งปรากฎว่ามีซากทารกในครรภ์อายุ 7 เดือนติดท้องอยู่ด้วย ทำให้เธอกลายเป็นมัมมี่ร่างแรกของโลกที่ยังคงมีตัวอ่อนค้างอยู่ในมดลูก

ที่มาของภาพ, WMP

มาในปีนี้ทีมนักวิจัย WMP ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาใหม่ล่าสุดลงในวารสาร Journal of Archaeological Science ซึ่งชี้ว่าร่างของทารกในครรภ์ดังกล่าวยังคงไม่เน่าเปื่อยสลายตัวไป แม้จะไม่ถูกแตะต้องด้วยกระบวนการทำมัมมี่เลยก็ตาม เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ถูกดองด้วยกรดอ่อนตามธรรมชาติ

ดร. มาร์ซีนา โอซาเร็ก-ซิลเก ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอว์บอกว่า “ผู้ทำมัมมี่ไม่ได้ผ่าเอาร่างทารกออกจากท้องแม่ ทำให้ซากเด็กถูกเก็บรักษาไว้ในมดลูกที่ปิดสนิทเหมือนภาชนะอย่างดี ขณะที่ค่าความเป็นกรดในเลือดของแม่และของเหลวในมดลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายในนั้นมีทั้งแอมโมเนียและกรดฟอร์มิกอยู่อย่างเข้มข้น”

“การที่ผู้ทำมัมมี่นำเนตรอน (natron) ซึ่งเป็นส่วนผสมของเกลือและแร่ธาตุจากก้นทะเลสาบที่แห้งเหือด มาโปะทับและใส่เข้าไปในศพของสตรีปริศนา ทำให้ร่างของเธอแห้งลงและยังป้องกันไม่ให้อากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งออกซิเจนเข้าไปภายในได้ ทำให้ซากทารกในครรภ์อยู่ในสภาพคล้ายถูกดองด้วยน้ำส้มสายชูภายในโหลที่ปิดสนิทนั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยไม่พบร่องรอยของกระดูกหลงเหลืออยู่ในตัวทารกเลย ทำให้ ดร. ซาฮาร์ ซาลีม นักรังสีวิทยาชาวอียิปต์และผู้ตรวจสอบมัมมี่ชื่อดังตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่อยู่ในท้องของสตรีปริศนาอาจไม่ใช่ทารก แต่เป็นเพียงถุงที่ผู้ทำมัมมี่ใช้ยัดเข้าไปในท้องศพ หลังนำอวัยวะภายในออกแล้วเท่านั้น

ที่มาของภาพ, WMP

ดร. โอซาเร็ก-ซิลเก ตอบข้อสงสัยของดร. ซาลีมว่า “กระดูกของทารกในครรภ์นั้นมองเห็นด้วยเครื่องสแกนได้ยากอยู่แล้วในช่วงสองไตรมาสแรก เนื่องจากยังมีแร่ธาตุเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งไม่มากนัก ยิ่งกรณีที่ซากทารกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดด้วยแล้ว กระดูกจะยิ่งถูกกัดกร่อนจนสูญเสียแร่ธาตุออกไป แต่เนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกกัดกร่อนได้ยากกว่าจะดูดซับแร่ธาตุที่สลายจากกระดูกนี้เอาไว้ และทำให้ซากทารกถูกมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นระหว่างการสแกน”

“กระบวนการดังกล่าวไม่ต่างจากการเกิดมัมมี่หลังศพถูกแช่อยู่ในบึงตื้น ๆ ของป่าพรุเป็นเวลานาน ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดอย่างอ่อนจะช่วยรักษาเนื้อเยื่อของศพไว้ได้”

“การที่กระดูกของทารกในครรภ์มัมมี่หายไป แต่ร่างส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อยังอยู่ได้นั้น ไม่ต่างจากการดองไข่ทั้งเปลือกในน้ำส้มสายชู ซึ่งกรดจะกัดกร่อนให้เปลือกที่เป็นแร่ธาตุคล้ายกระดูกสลายไป เหลือเพียงไข่ขาวและไข่แดงที่ยังคงสภาพอยู่ได้”

ผลวิเคราะห์ความกว้างของช่องคลอดและท่าทางของทารกในครรภ์ยังชี้ว่า สตรีปริศนาไม่ได้เสียชีวิตจากการคลอดบุตร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมผู้วิจัยก็ยังไม่ทราบว่าแม่และเด็กเสียชีวิตลงด้วยสาเหตุใดกันแน่ และทำไมผู้ทำศพไม่ผ่าเอาร่างของทารกออกเหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งคำถามเหล่านี้จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไปในอนาคต

………………………………………….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ