บอกตามตรงนะครับ ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าต้องมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองในเรื่องวิกฤตโควิดผ่านบทความในฐานะที่ดูแลทีมข่าวเล็กๆ ของเว็บไซต์ sanook.com
เหตุผลก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากที่ผมคิดว่าตัวเองมีช่องทางที่สามารถนำเสนอข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ จากทั้งของส่วนตัวและของคนอื่นๆ ซึ่งมักจะฝากไปถึงภาครัฐอยู่เนืองๆ นับตั้งแต่ที่โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาอุบัติขึ้น
ทว่ามาถึงนาทีนี้ ผมอยากจะสื่อสารสิ่งที่อยู่ในความคิดออกมาให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้บ้างแล้วล่ะครับ
อย่าทำงานแค่เพราะมีอาชีพ เป็นมืออาชีพสำคัญกว่า
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยก็หนีไม่พ้นเช่นกัน แม้โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ได้ตระหนกตกใจ แปลกใจ หรือแม้แต่ตั้งคำถามกับการระบาดระลอกล่าสุดของไวรัสโควิด-19 ในบ้านเรา เหตุผลก็เพราะผมเชื่อว่าการกรำศึกต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายมานานปีกว่าๆ แล้ว ย่อมทำให้ทุกคนเกิดอาการ “ล้า” กันเป็นธรรมดาครับ
ส่วนใครจะแปลคำว่า “ล้า” ในบริบทของผมเป็นอย่างอื่น เช่น ประมาท การ์ดตก หรือแม้แต่ เห็นแก่ตัว ฯลฯ อันนี้ผมคงไม่อาจไปก้าวล่วงความคิดเห็นของคนอื่นได้ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นสำหรับผมและประชาชนอีกหลายต่อหลายคนสงสัยกับมาตรการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดรอบนี้คือ เรายังคงรับมือได้อยู่จริงๆ รึเปล่าครับ?
ทำไมถึงตั้งคำถามแบบนี้ล่ะ
คำตอบก็คือ เท่าที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มาตลอดปีกว่าๆ ในมุมของผมและคนที่คิดในทำนองเดียวกันต่างตั้งคำถามว่า การที่เราอยู่กับเชื้อไวรัสร้ายมานานพอสมควรจนเชื้อกลายพันธุ์ได้หลายสายพันธุ์แล้ว แต่ทำไมมาตรการในการรับมือถึงได้แทบไม่ต่างไปจากวันแรกที่โรคนี้อุบัติขึ้นเลย
แน่นอนครับว่า ผมเองไม่ใช่หมอ และก็ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นการจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งด่าทอเมื่อเกิดประเด็นต่างๆ นานา ผมระมัดระวังมาโดยตลอดครับ ที่ผ่านมาในฐานะที่ทำงานเป็นสื่อมวลชนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ผมพยายามที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน แม้ว่าไม่ง่าย แม้ว่ายังทำได้ไม่ดีพอ แต่ก็ไม่เคยที่จะคิด “ล้มเลิก” ความตั้งใจ
สิ่งที่ผมกำลังพยายามจะบอกก็คือ แม้จะไม่ใช่คนในวงการสาธารณสุข แต่เราสามารถมีเพื่อน มีญาติ มีแหล่งข่าว เป็นแพทย์หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ได้ครับ ดังนั้น คงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนที่มีอาชีพนักข่าวถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือมาตรการควบคุมโรคได้ล่ะ
เพราะถ้าเราไม่ใช่แค่คิดว่า “มีอาชีพ” แต่คิดอยู่เสมอว่าอยากเป็น “มืออาชีพ” ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานไหน ก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้แน่นอนครับ
ต้องฟังให้ได้ยิน
เอาล่ะ ผมเกริ่นมานานพอแล้วครับ ขอนำเสนอแค่สิ่งเดียวที่อยากจะส่งผ่านความคิดของผมไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้ก็คือ “ฟัง” กันเถอะครับ
ที่ผ่านมาปีกว่า ผมไม่ปฏิเสธครับว่ารัฐและประชาชนร่วมมือกันจนควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่ควร “ละเลย” หรือ “มองข้าม” ว่าผลงานที่เกิดขึ้นนั้น “แลก” มากับอะไรบ้าง
มีคนที่เดือดร้อนจนกระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่มากน้อยขนาดไหน บางคนตกงานขาดรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว หลายคนแม้ยังมีงานทำแต่ก็ถูกลดเงินเดือนลง หรือแม้แต่บรรดาเจ้าของธุรกิจรายเล็กรายน้อย ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี พวกเขาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วหรือยัง
เราฟังคนเหล่านี้แล้ว “ได้ยิน” พวกเขาบ้างมั้ยครับ
ผมทราบดีครับว่าตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้ ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลืออะไรมาแล้วบ้าง แต่ต้องไม่ลืมด้วยเหมือนกันครับว่าเราควรมีพื้นที่ที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้เม็ดเงินมหาศาลก้อนนั้น
ก่อนหน้านี้ คนในสังคมจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนในประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องจำนวนน้อยเกินไปหรือไม่ ระยะเวลาที่จะได้รับช้าเกินไปหรือเปล่า คุณภาพของวัคซีนเป็นอย่างไร หรือแม้แต่แผนการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดหนักแบบที่กำลังเผชิญอยู่ว่ารัดกุมเพียงพอมั้ย
ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า หลายคนคงยังจำคำตอบของคำถามเหล่านี้จากภาครัฐได้ดีว่าเป็นอย่างไร แล้วสุดท้ายความจริงเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- เรากำลังต้องเจรจาอย่างหนักกับผู้ผลิตวัคซีนหลายบริษัท เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด “มาเพิ่ม” และอยากได้แบบ “เร็วที่สุด” เท่าที่จะเป็นไปได้
- ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการฉีดวัคซีน
- ตลอด 2-3 สัปดาห์มานี้ มีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนหนึ่ง ต้องรอคอยเตียงว่างในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน โรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่ Hospitel
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันกำลังสะท้อนว่า ที่ผ่านมาบรรดาผู้รับผิดชอบและองคาพยพ “ไม่ได้ฟัง” หรือ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” ข้อเสนอแนะหรือแม้แต่ประเด็นสงสัยต่างๆ เลยใช่หรือไม่ครับ
ผมขอยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียวก็พอ นั่นก็คือ นโยบายที่กำหนดให้ผู้ติดเชื้อโควิด “ทุกคน” ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เนื่องจากเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกฎหมายควบคุมโรค แต่ก็อย่างที่หลายๆ คนคงเห็นจากข่าวแล้วว่า ผู้ติดเชื้อหลายคนต้องรอคอยเตียงว่างนานหลายวัน การติดต่อประสานงานผ่านการโทรศัพท์เข้าไปที่สายด่วนเป็นไปอย่างยากลำบาก (เฉพาะตัวผมเองคนเดียว มีเคสที่ติดต่อมาขอให้ช่วยประสานหาเตียงให้ก็ 7 รายแล้ว) จนทำให้เราได้เห็นข่าวในทำนองนี้เพิ่มมากขึ้นในระยะหลังๆ
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะบอกว่า การที่ภาครัฐหรือผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ มีความพยายามในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ ก็แปลว่า มีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องข้อเสนอแนะไปแล้วมิใช่หรือ
ใช่ครับ ถูกครับ ไม่ปฏิเสธครับ
แต่ประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อคือ เราทำได้เร็วกว่านี้มั้ยครับ? เราทำได้ดีกว่านี้มั้ยครับ? เราสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้มากกว่านี้มั้ยครับ?
ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้ยืนยันแบบสุดตัวเลยครับว่า ถึงนาทีนี้แล้ว หลายภาคส่วน “พร้อม” ที่จะเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือในการพาประเทศไทยของเราฝ่าวิกฤตโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ภาคเอกชนประกาศตัวว่าพร้อมจะลงขันจัดซื้อวัคซีนโควิดมาฉีดให้พนักงาน-ลูกจ้าง รวมทั้งยังเสนอสถานที่ให้รัฐนำไปใช้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในวงกว้าง อาทิ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เป็นต้น นี่ยังไม่นับคนตัวเล็กตัวน้อย อาสาสมัคร จิตอาสา อีกนับไม่ถ้วน ที่เป็นมดงานคอยดำเนินการประสานในเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างคอยดูแลอาหารการกินให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเพียงลำพัง ไปจนถึงเป็นตัวกลางคอยส่งต่อความเดือดร้อนต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เห็นความแตกต่างแล้วใช่มั้ยครับ ระหว่าง “การมีอาชีพ” กับ “มืออาชีพ” และในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ ผมเชื่อเหลือเกินครับว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ของตัวเองแบบมืออาชีพ ถึงจะสามารถเอาชนะโรคร้ายวายป่วงนี้ได้ครับ
ในฐานะสื่อมวลชน ผมจะพยายามนำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพเช่นกันครับ ทีมข่าวของสนุกจะไม่ลงข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน เราพร้อมจะตั้งใจ “ฟัง” ข้อมูลทุกอย่าง และยึดมั่นในบทบาทของความเป็นตัวกลางระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร
ขอปิดท้ายด้วยอาการ “ฟังแต่ไม่ได้ยิน” อีกซักนิดนึงครับ
เมื่อหลายปีก่อนมีนายกรัฐมนตรีของประเทศหนึ่งที่มั่นใจในเสียงสนับสนุนของประชาชนผ่านการชนะเลือกตั้ง พรรคการเมืองของตนเองได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว พอบริหารประเทศไปเรื่อยๆ เริ่มมีเสียงหนาหูว่าท่านผู้นำเลือก “ฟัง” แต่เฉพาะบริวารหรือทีมงานใกล้ตัว บรรดาบุคคลที่เคยสนับสนุนเป็นแนวร่วมพยายามส่งเสียงเตือนถึงความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินการต่างๆ แต่ที่สุดเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
ใครจะไปคิดว่าวันดีคืนดี อดีตนายกฯ ผู้นี้ ตัดสินใจขายหุ้นของกิจการตนเองที่เวลานั้นโอนไปอยู่ในชื่อของลูกๆ ไปให้กับหุ้นส่วนทางธุรกิจจากอีกประเทศหนึ่ง เหตุการณ์นี้กลายเป็น “ปฐมเหตุ” ความไม่พอใจของประชาชน จนพัฒนาไปสู่การออกมาชุมนุมประท้วง และจบลงด้วยการที่คณะนายทหารออกมาทำการ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจไปจากรัฐบาลเลือกตั้งในเวลานั้น
การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการระดมกำลังพล แบกปืน ขับรถถัง ออกมาทำรัฐประหาร ไม่ใช่หนทางในระบอบประชาธิปไตยครับ แต่นั่นคือปลายทาง เพราะต้นทางของการฟังแต่ไม่ได้ยินอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้
บางครั้งประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เอาไว้ท่องจำแค่เพียงอย่างเดียวหรอกครับ แต่เอาไว้เรียนรู้ว่าจะ “เดินตามรอย” หรือ “เลือกทางเดินใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม”