สสส. จัดกิจกรรมสร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน ให้ความรู้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพฯ เรื่องการข้ามทางม้าลาย ดูสัญญาณไฟ และป้ายจราจร สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่รถยนต์ หยุดรถก่อนถึงทางม้าลาย เผยครบรอบ 5 เดือนในการจากไปของ หมอกระต่าย สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทยได้กลับมาใส่ใจในการข้ามทางม้าลาย
โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยบนท้องถนน วุฒิสภา และ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมสร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน โดยมีวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) ให้ความรู้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในกรุงเทพฯ เรื่องการข้ามทางม้าลาย ดูสัญญาณไฟ และป้ายจราจร พร้อมแจกสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่รถยนต์ หยุดรถก่อนถึงทางม้าลาย บริเวณทางม้าลายถนนดินสอ ข้างศาลาว่าการกรุงเทพฯ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ประชาชนพูดถึงเป็นอย่างมาก นักเรียนจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะต้องใช้ในการเดินทางไปเรียน โดย กทม.มีความจริงจัง เราต้องรับผิดชอบทั้งทางเท้า ไฟส่องสว่าง ท้องถนน ทั้งนี้ ก็ได้หารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลในเรื่องการกำหนดความเร็วก่อนถึงทางม้าลายเรียบร้อย ก่อนดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว นอกจากนี้ยังคงต้องอาศัยซอฟท์พาวเวอร์ หรือการรณรงค์ต่างๆ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาด สำหรับการแก้ไขในเบื้องต้น ขณะนี้ได้เร่งฉีดน้ำบนทางม้าลายให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็จะนำแผนที่เสี่ยงภัยมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง เป็นการมุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยในการข้ามทางม้าลาย และตอนนี้เป็นช่วงเวลาครบรอบ 5 เดือนในการจากไปของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทยได้กลับมาใส่ใจในการข้ามทางม้าลาย ทั้งผู้ขับรถและผู้ที่เดินทางเท้า
อย่างไรก็ตาม ยังคงพบอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สสส.จึงร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร สน.สำราญราษฎร์ และโรงเรียนในสังกัด กทม.จัดกิจกรรมนี้ขึ้น พร้อมสำรวจข้อมูลกับมูลนิธิไทยโร้ด ดูพฤติกรรมผู้ขับขี่รถยนต์ใน 12 จุดทั่วกรุงเทพฯ ยังพบผู้ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อเข้าถึงทางม้าลาย เป็นจักรยานยนต์กว่า 90% มี 38% ฝ่าสัญญาณไฟแดง และยังมีกลุ่มไรเดอร์ที่ใช้จักรยานยนต์ส่งของโดยใช้โทรศัพท์มือถือหรือใช้มืออีกข้างถือสิ่งของขณะขับขี่กว่า 11% แต่ยังมีเรื่องดีที่ 1 ใน 3 ของผู้ใช้จักรยานยนต์ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
นายสุรชัย กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนเมื่อปี 2564 มีจำนวน 16,957 ราย ในนี้เป็นคนเดินข้ามถนนหรือใช้ทางเท้า เสียชีวิตปีละ 900 ราย ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่าในปีนี้ มีคนเดินถนนในกรุงเทพฯ เสียชีวิตไปแล้ว 28 ราย จึงเสนอแนวทางบริหารจัดการแก่ กทม.โดยให้จัดสรรงบประมาณเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น พร้อมเร่งพัฒนาระบบข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางถนน ส่วนมาตรการด้านถนน ให้กำหนดทางม้าลายมาตรฐาน ติดตั้งป้ายเตือน ไฟส่องสว่าง พร้อมประเมินจุดเสี่ยงที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทางข้าม กำหนดความเร็วในเขตชุมชน โรงเรียน และตลาด โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยผ่านการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง