ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกลจากกรณีใช้นโยบายรณรงค์หาเสียงด้วยการ แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ม.112 ซึ่งเป็นเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ตัดสิทธิ กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมทีผ่านมา ช่วงค่ำวันเดียวกัน เหล่าสถานทูต สหรัฐ ยุโรป อียู และสภาอาเซียน ได้ออกมาแสดงความห่วงใยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- ปิดฉากพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง! หลังศาล รธน. สั่งยุบพรรคก้าวไกล 9 ต่อ 0
- พรรคก้าวไกล เคลื่อนไหว หลังศาลวินิจฉัย ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ 10 ปี
โดย สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย ออกแถลงการณ์โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ “แมทธิว มิลเลอร์” ระบุว่า กรณีการยุบพรรคก้าวไกลในประเทศไทย สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน
คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วถึงเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันระดับชาติที่เข้มแข็ง สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนาน เราเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก
ทางด้าน สหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์กรณียุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า การตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่อีกพรรคหนึ่ง เป็นการทำให้ระบบการเมืองแบบหลายพรรคในไทยถดถอย พรรคก้าวไกล เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 กว่า 14 ล้านเสียง จากทั้งหมด 39 ล้านเสียง
ระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถทำงานได้ หากไม่มีพรรคการเมืองและผู้สมัครจากหลากหลายฝ่าย ข้อจำกัดใดๆ ต่อการใช้เสรีภาพในการรวมตัวและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือ ICCPR
เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรที่มีอำนาจจะต้องรับรองสิทธิว่า ส.ส.ที่ได้รับเลือกมาอย่างถูกต้อง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อได้ โดยไม่คำว่าตนได้รับเลือกจากพรรคการเมืองใด
สหภาพยุโรปพร้อมที่จะขยายการมีส่วนร่วมกับประเทศไทยภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือที่ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงในประเด็นของความหลากหลายทางประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน