เวลาที่เห็นดราม่าต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่การประสบพบเจอด้วยตัวเอง เคยเจอคนประเภททัศนคติแย่ ๆ ตรรกะพัง ๆ บ้างหรือไม่? คนประเภทที่ทำให้เราตั้งคำถามในใจว่า “เขาถูกเลี้ยงหรือเติบโตมาแบบไหน ทำไมถึงเป็นเอามากขนาดนี้”
จริง ๆ แล้ว ในการเข้าสังคม การอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ที่เราไม่รู้จัก ความเกรงใจและเอาใจเขาใส่ใจเราคือสิ่งที่ต้องมี ซึ่งส่วนนี้จะมีได้ เกิดขึ้นจาก “การมีทัศนคติดที่ดี” ในการเข้าสังคม ทัศนคติที่จะไม่ระรานคนอื่น ทัศนคติที่ไม่ทำคนอื่นเดือดร้อน และทัศนคติที่ไม่ยุ่งเรื่องคนอื่นโดยไม่จำเป็น
เพราะทัศนคติ คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของเราทั้งหมด ทัศนคติแย่ก็แสดงออกมาอย่างแย่ ๆ และเมื่อไปแสดงใส่ใครแบบแย่ ๆ ก็จะได้รับสิ่งที่แย่กลับมา โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่ใคร ๆ ล้วนทำตัวแย่ใส่คนอื่นได้เพราะไม่รู้จักเห็นหน้าค่าตา หรือไม่ก็ใช้แอคเคาท์ปลอมที่คนอื่นไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ดังนั้น โลกออนไลน์จึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่มากและไร้พรมแดน ความคิดที่ว่า “เป็นพื้นที่ส่วนตัว” ก็เลยไม่ถูกเสียทีเดียว เมื่อเปิดสาธารณะไว้ก็ไม่ส่วนตัวอีกต่อไปแล้ว และการปรากฏตัวของคนทัศนคติแย่ ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินคาดเดา
พื้นที่ส่วนตัวในโลกออนไลน์ไม่มีอยู่จริง ตราบใดที่สามารถเห็นได้อย่างสาธารณะ
ทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมจึงสำคัญ เพราะมันช่วยให้คนกลุ่มใหญ่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข ลดปัญหาความขัดแย้ง เพราะอยู่กันแบบไม่วุ่นวายซึ่งกันและกัน เป็นมิตรต่อกันเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ยึดถือว่า “หากอยากได้น้ำใจไมตรี ก็ควรจะหยิบยื่นให้เขาก่อน” และ “ไม่ชอบอะไรก็อย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น”
แต่ทุกวันนี้เรามักจะเจอชาวเน็ตทัศนคติแย่อยู่บ่อยครั้ง ทัศนคติแย่ ๆ แบบไหนที่มักเจอกันโซเชียลมีเดีย ที่อาจจะทำให้โดนแบน สังคมไม่ยอมรับ และกลายเป็นคนดังในโลกออนไลน์ได้ในช่วงข้ามคืน
สร้างพลังลบอยู่ตลอดเวลา
คือคนประเภทที่สร้างและปล่อยพลังลบออกมาอยู่ตลอดเวลา พลอยจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกลบและหดหู่ตามไปด้วย คนประเภทนี้จะมองโลกในแง่ร้าย ทัศนคติลบ ความคิดลบ คำพูดลบ มองทุกอย่างเป็นลบอยู่ตลอด ไม่เคยมีอะไรถูกใจ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีแบบโลกสวย เพียงแต่มองโลกในแบบที่มันเป็น ซึ่งการอยู่ร่วมกับผู้อื่นแล้วสร้างแต่เรื่องลบ ๆ แบบนี้ คนอื่นจะมองว่าไม่น่าคบ และจะทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ตามไปด้วย
คอยจับผิดแต่คนอื่น
จะมีคนบางประเภทที่คอยจ้องแต่จะจับผิดคนอื่น เห็นคนอื่นผิดพลาดไม่ได้ เป็นต้อง “เหยียบซ้ำ” เช่นการโควทหรือแชร์ต่อไปด่าในลักษณะประจาน ใช้คำพูดดูถูกความรู้หรือสติปัญญา ทั้งที่ความจริงเราสามารถพูดคุยกันดี ๆ ด้วยเหตุผลได้ ผลลัพธ์ย่อมดีกว่าการใช้อารมณ์ การใช้ความสะใจ และตรรกะที่บิดเบี้ยวมาเถียงกัน มัวแต่จับผิดคนอื่น แต่ตนเองไม่เคยผิดที่ไปเริ่มเปิดเรื่องก่อน โทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง
เรื่องอารมณ์ยืนหนึ่ง
ไม่ผิดที่จะมีอารมณ์ร่วมด้วย แต่อารมณ์ต้องมาพร้อมสติและเหตุผล ทุกวันนี้ การบันทึกหลักฐานต่าง ๆ ทำได้อย่างง่ายดาย และชัดเจนทุกกระบวนท่า ทว่าหลายคนก็เลือกที่จะ “ไม่แคร์” แม้กล้องจะบันทึกเหตุการณ์อยู่ก็ตาม ไม่กลัวว่าจะโดนแคปภาพหน้าจอไป หากถามว่ารู้ไหมว่าเดี๋ยวงานจะเข้า เชื่อว่ารู้ แต่ก็ไม่ระงับอารมณ์ หลังจากนั้นก็มีอยู่ไม่กี่ทางในการเอาตัวรอด บ้างอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วขอโทษ เดี๋ยวคนก็ลืม ไม่ก็เลือกที่จะตีมึนไปจนสุดทาง
สนใจแต่ตัวเอง ความคิดตัวเองถูกเสมอ
จะมีคนบางประเภทที่ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ตนเองคือผู้รู้อยู่คนเดียว ความคิดตัวเองถูกเสมอ ไม่สนคำเตือน เสียงวิจารณ์ หรือไม่แม้แต่เปิดใจฟังความรู้จากคนอื่น ๆ ไม่เคารพความเห็นคนอื่น สนแค่ว่าตัวเองเป็นตัวเองก็พอ ไม่เคยใจเขาใจเรา มองโลกเพียงด้านเดียว คือด้านที่ตัวเองอยู่ อย่างที่เรามักจะเห็นการเถียงกันไปมา ด่าว่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคายหาสาระไม่ได้ แล้วอ้างแต่อะไรก็ตามที่ไม่มีเหตุผล เชื่อถือไม่ได้
เห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้ ต้องหาเรื่องแซะ
การเห็นคนอื่นอวดชีวิตดี ๆ แม้จะดูน่าหมั่นไส้ก็จริง แต่นั่นก็คือ “เรื่องของเขา” ดังนั้น หากจะเรียกว่าอิจฉาก็คงไม่ผิดนัก ส่วนใหญ่มักจะไปมีส่วนร่วมกับเขาแบบไม่ได้มีน้ำเสียงชื่นชมยินดี กลับเป็นน้ำเสียงเหน็บแนม แดกดัน ประชด หรือแม้แต่การทิ้งระเบิดตรง ๆ ประมาณว่า “รวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโง่ด้วย” หรือ “ขี้อวด” หรือ “อวยกันเองอยู่นั่น” ทั้งจริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของของเขาก็ได้
ไม่รู้ตัวว่าผิด เอ่ยคำขอโทษไม่เป็น
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะผิดพลาดกันได้ ซึ่งบ่อยครั้งเราก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ การที่มีคนมาเตือนก็เพราะอยากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือไม่ก็ต้องการแสดงความเห็นในอีกมุม แต่หลายดราม่าเกิดขึ้นเพราะมีคนเตือน แต่ไม่กลับไปพิจารณาว่าผิดจริงหรือเปล่า บางคนยังสวนกลับแบบไม่คิดว่าที่ตัวเองทำนั้นผิดอะไร ผิดยังไง ไม่ยอมรับความผิด ไม่รู้สึกละอายใจ และไม่เอ่ยคำขอโทษใด ๆ ทั้งสิ้น
ปาก้อนหินใส่คนอื่นแต่หวังว่าเขาจะปาดอกไม้กลับมา
จุดเริ่มต้นของการโต้เถียงบนโซเชียลมีเดีย มักจะมาจาก “การแสดงความเห็นต่างแบบหยาบคาย” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเห็นต่างไม่ใช่ว่าจะมาหาจุดตรงกลางไม่ได้ แต่การเปิดประเด็นด้วยภาษาเสียดสี ด่าทอ บูลลี่ แสดงความเกลียดชัง หรือคุกคาม ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายนิ่งเฉยได้ จะมีกี่คนที่ไม่โต้ตอบกลับมา ทั้งยังไม่ค่อยจะยอมรับด้วยว่าตนเป็นคนเปิด เรื่องจะไม่เกิดถ้าเห็นแล้วผ่านไป จนในที่สุดกลายเป็นการปาก้อนหินใส่กันไปมาโดยไม่มีใครยอมใคร