กองทัพอากาศ ปรับปรุงโครงสร้างการจัด “กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ” เป็น “กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ” เน้นประสิทธิภาพ ทันสมัย
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยถึงรายละเอียดการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยกำลังรบของกองทัพอากาศ จาก “กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ” ยกระดับขึ้นเป็น “กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ” ซึ่งที่ประชุมสภากลาโหมมีมติเห็นชอบตามที่กองทัพอากาศเสนอ ในการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พ.ค.65
โดยกองทัพอากาศ วางแผนและดำเนินการ ใน 2 ส่วนสำคัญ คือ (1) ปรับแก้ไขชื่อและภารกิจของหน่วย และ (2) ปรับปรุงโครงสร้างการจัด กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงการจัดส่วนราชการกลาโหม เมื่อวันที่ 27 เม.ย.65
ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในการดำเนินการ และนำมาสู่การอนุมัติหลักการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 10 พ.ค.65 ให้กองทัพอากาศ แก้ไขพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการฯ ในการปรับกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ เป็น กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ และปรับปรุงโครงสร้างการจัด ในลักษณะคู่ขนาน นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภากลาโหม
ทั้งนี้ กองทัพอากาศปรับปรุงโครงสร้างการจัด กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ให้ครอบคลุมมิติทางอากาศ ทางอวกาศ และทางไซเบอร์ ถือเป็น Multi-Domain Organization เบื้องต้น และเริ่มทดลองใช้งานเพื่อพลางตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 โดยใช้หลักการปรับเกลี่ยอัตราและจัดกลุ่มงานใหม่ของหน่วยงานที่มีความจำเป็นลดน้อยลง แล้วเพิ่มให้กับหน่วยงานที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งการปรับโอนอัตรากำลังพลดังกล่าว ไม่ทำให้งบประมาณรายจ่ายกำลังพลภาครัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น
การปรับโครงสร้างการจัดในครั้งนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถการบัญชาการและควบคุม ให้ครอบคลุมการปฏิบัติการทั้ง 3 มิติสามารถรองรับการปฏิบัติการของอากาศยานรบ ยุคที่ 5 ที่วางแผนจะจัดหาในอนาคต ทั้งยังส่งผลดีต่อการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของเหล่าทัพและกองทัพไทย ตอบสนองต่อภารกิจ ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนจะใช้เป็นหน่วยนำร่องต้นแบบ ก่อนที่จะขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นของกองทัพอากาศต่อไป
ทั้งนี้ กองทัพอากาศ ดำเนินการปรับโครงสร้างหน่วยงานให้มีความกระชับ ทรงประสิทธิภาพ และมีความทันสมัย “เน้นคุณภาพ เหนือปริมาณ” เพื่อพัฒนาสู่การเป็น “กองทัพอากาศคุณภาพ” ในอนาคต โดยใช้แนวทางมุ่งประโยชน์สูงสุดในการใช้งานกำลังพล ด้วยการนำกำลังพล ที่มีภาระงานน้อยมาปฏิบัติงานให้เหมาะสม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรบุคคล เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน กองทัพอากาศ เหล่าทัพ และกองทัพไทย ตามนโยบายกระทรวงกลาโหม