ทส. โดย คพ. ติวเข้มเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่มีผลตรวจคุณภาพน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หวังสนับสนุน เสริมความรู้ ความเข้าใจ ให้ปฏิบัติตามกม.สิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากปัญหาเรื่องการระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ในพื้นที่คลองเสื่อมโทรมในกรุงเทพฯ พื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา และพื้นที่คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ โดยมาตรการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การกำกับให้แหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมปฏิบัติตามกฎหมายและระบายน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะสามารถลดความสกปรกที่จะระบายจากแหล่งกำเนิดมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ
จากการลงพื้นที่ของ คพ.ในปีงบประมาณ 2565 รอบ 6 เดือนแรก(ต.ค.64- เม.ย. 65) มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารบางประเภทและบางขนาด ที่ดินจัดสรร และฟาร์มสุกร รวม 302 แห่ง พบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มี 87 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 35.37 และแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มี 159 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.63 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก
การผลักดันการดำเนินงานการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีการจัดการเป็นไปตามมาตรฐานก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเป็นไปตามมาตรฐานและประเภทของการใช้ประโยชน์ และทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น
ทส. โดย คพ. จึงจัดการอบรมเพิ่มศักยภาพให้แก่แหล่งกำเนิดมลพิษที่มีผลคุณภาพน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 30 – 31 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารบางประเภทและบางขนาดและที่ดินจัดสรร รวม 137 คน ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ และผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย มีความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้คพ.จะลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป สถานประกอบการใดที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนกลไกการจัดการน้ำเสียของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ