‘ทวี’ เผยค่าแรงขั้นต่ำ 600 มุ่งลดเหลื่อมล้ำ ช่วยแรงงานพ้นวิกฤตค่าครองชีพ มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อถึงปี 2570 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ยกระดับรายได้แรงงานไทย
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.65 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง’ ถึงกรณีค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ระบุว่า ปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน สาเหตุหลักมาจากค่าแรงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายพื้นฐานคนไทย 1 คน อยู่ที่ประมาณ 17,000 บาท/เดือน (อ้างอิงจากรายงานการศึกษาเรื่องค่าแรงและค่าครองชีพของคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร)
หากสัปดาห์หนึ่งต้องทำงาน 5 วัน อย่างน้อยต้องมีรายได้ประมาณ 772 บาทต่อวัน เพื่อให้สามารถมีรายได้เพียงพอต่อดำรงชีวิต ดังนั้นเรื่องการขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องเดียวกับคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะถ้ามีรายได้น้อยกว่านี้ คนจะไม่มีเวลาว่าง วันหยุดจะต้องทำโอทีและงานเสริม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย หรือเพื่อนำเงินที่ได้มาเพิ่มไปใช้หนี้ที่ยังค้างอยู่
โดยนอกจากเรื่องค่าแรงต่ำกว่าค่าครองชีพ แรงงานไทยยังเผชิญกับปัญหาเสรีภาพในที่ทํางาน ความปลอดภัยในพื้นที่ทำงาน และความไม่มั่นคงในการทํางาน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเพื่อให้แรงงานไทยมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันไป อย่างแรกคือประเทศไทยต้องทำคือรับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมอำนาจต่อรองของแรงงานให้มากขึ้น
การเสนอเป้าหมายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน เมื่อถึงปี 2570 ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้สูงขึ้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่น่าตกใจคือความคิดของผู้บริหารประเทศ และนายทุนบางคน ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตรอดให้ใกล้เคียงกับค่าครองชีพของประชาชนที่เผชิญหน้าอยู่ จำนวนเงินค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ยังต่ำกว่าที่สอดคล้องกับค่าครองชีพจริงของประชาชน
ซึ่งที่ผ่านมาการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยแต่ละครั้ง จะเว้นช่วงระยะเวลานานและได้จำนวนน้อย ซึ่งการปรับค่าแรงครั้งใหญ่ 300 บาท/วัน ทั้งประเทศ เกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2556 ระยะเวลาผ่านมา 10 ปี ค่าแรงขึ้นมาเพียงไม่กี่สิบบาทเท่านั้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยบาทต่อวันเมื่อเทียบช่วงปี 2556
ซึ่งในอนาคตแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำเราต้องใช้วิธีค่อยๆ ปรับขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อทุกปี เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับมือกับต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งหากเรามาดูที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำเราอยู่ที่ 328-354 บาท/วัน ถือว่าห่างจากตัวเลขที่ควรจะเป็นเกือบเท่าตัว
ผลลัพธ์คือคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเลี้ยงชีพ จนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดปี 2564 มีสัดส่วนถึง 90% ของ GDP หรือ 14.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นเพียงตัวเลขหนี้ในระบบเท่านั้น ยังไม่นับรวมการกู้หนี้นอกระบบที่เป็นแหล่งเงินของผู้มีรายได้น้อยและทำงานแบบรายวัน
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนจากการใช้แรงงานราคาถูก ไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงที่ใช้แรงงานทักษะมากขึ้น ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น เพราะการใช้แรงงานราคาถูก จะทำให้อุตสาหกรรมไทยยังเป็นอุตสาหกรรมแบบขี้เกียจ ที่ไม่พัฒนาศักยภาพแรงงาน และนวัตกรรมการผลิตให้ดีขึ้น เพราะยังสามารถสร้างส่วนต่างกำไรจากค่าแรงต่ำ เป็นมะเร็งทางเศรษฐกิจที่ทำให้เราห่างไกลจากการพัฒนานวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถพาเราไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้
“ความอยู่รอดเป็นชีวิตย่อมมีความสำคัญยิ่ง” การยกระดับค่าแรงขั้นต่ำให้เท่าเทียมกับรายจ่ายพื้นฐานขั้นต่ำของสังคมไทย คือโอกาสและสิ่งท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อช่วยแรงงานพ้นวิกฤตค่าครองชีพ ที่จะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาตลาดแรงงานไทย ที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมอีกด้วย