ทวี สอดส่อง ห่วงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่มาเลย์ ตรงวันสำคัญศาสนา

Home » ทวี สอดส่อง ห่วงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่มาเลย์ ตรงวันสำคัญศาสนา


ทวี สอดส่อง ห่วงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่มาเลย์ ตรงวันสำคัญศาสนา

‘ทวี สอดส่อง’ กังวล เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มาเลเซีย เป็นปัญหาต่อผู้ที่จะไปใช้สิทธิอย่างมาก ตรงกับวันสำคัญทางศาสนา แนะให้เลื่อนออกไป 1 สัปดาห์

วันที่ 27 มี.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ลงนามโดยอุปทูตไทยในมาเลเซีย (นางปิยะพิณ นิยมฤกษ์) ซึ่งได้กำหนดให้จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น. ของวันที่ 27-28 เมษายน 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันทำงาน ส่งผลให้คนไทยในมาเลเซียร้องเรียนมา ว่าได้รับความเดือดร้อนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การจัดวันเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้คนไทยในมาเลเซียหลายหมื่นคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่รัฐไกลๆ อาจเสียสิทธิเลือกตั้งได้ เพราะไม่สามารถเดินทางมาลงคะแนนตามที่จัดไว้ เช่น คนที่อยู่ทางรัฐซาบาห์ ซาราวัค กลันตัน เป็นต้น ที่เป็นประเด็นปัญหาคือ

1.เป็นการลงคะแนนที่คูหา ไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์เหมือนในหลายประเทศ ที่จะมีทั้งมาลงคะแนนที่คูหาและทางไปรษณีย์

2. การออกเสียงลงคะแนนที่จัดไว้ 2 แห่งเท่านั้น คือที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง และที่เมืองยะโฮร์บาฮ์รู โดยใช้หน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ในขณะที่รัฐปีนังและรัฐใกล้เคียง รัฐ กลันตันและรัฐใกล้เคียง ที่มีจำนวนคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากหลายหมื่นคน และมีสถานกงสุลตั้งอยู่ กลับไม่มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

3. ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 ด้าน คือ

​​1) จัดเลือกตั้งหลังวันฮารีรายาที่จะมีขึ้นประมาณวันที่ 22-23 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญของมุสลิมเป็นอย่างมาก ในช่วงดังกล่าวคนที่อยู่ในมาเลเซียจะเดินทางกลับไปเฉลิมฉลองวันฮารีรายาที่ไทยเป็นเวลา 7-10 วัน ซึ่งเหมือนการหยุดยาวประจำปี เหมือนการหยุดยาวช่วงสงกรานต์ ดังนั้นช่วงวันดังกล่าวคนจะยังอยู่ไทยไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาเลเซีย อาจทำให้เสียสิทธิได้ หรือถ้ากลับเข้ามาเลเซีย และวันที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งในไทย เป็นไปได้ยากมากที่พวกเขาจะกลับไปอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคบริการ ร้านอาหาร ร้านนวด ต้องกลับไปอีก ส่วนใหญ่แล้วจะลางานได้ยาก และทำให้เสียค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง สร้างความยุ่งยากลำบากกับประชาชนที่อยู่ต่างแดนกลุ่มนี้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง

​​2) วันที่ 27-28 เป็นวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ตรงกับวันทำงาน สำหรับคนที่ทำงานตามบริษัทข้ามชาติ คนในสาย Expats แน่นอนว่าจะสร้างความยุ่งยากเช่นกันในการต้องลางาน ซึ่งถ้าลาไม่ได้ ก็จะเสียสิทธิเลือกตั้งได้ทันที

4. ระบบการลงทะเบียนใช้สิทธิ พบปัญหาดังนี้

​​1) ทางออนไลน์ การเข้าเว็บมีความล่าช้ามาก และหลายคนไม่สามารถทำได้ เจอปัญหาไม่พบข้อมูลในรายชื่อผู้มีสิทธิ และต้องใช้เอกสารบัตรประชาชนและพาสปอร์ตที่ยังไม่ขาดอายุเท่านั้น ในกรณีพาสปอร์ตขาดอายุ ต้องไปข้อ 2
​​2) ลงทะเบียนด้วยตนเองที่สถานทูต ข้อนี้คนอยู่ที่อยู่ไกลๆ จะเป็นปัญหาเช่นกัน ควรให้ลงทะเบียนใช้สิทธิทางไปรษณีย์ได้เช่นเดียวกับในหลายประเทศ
3) เอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียนใช้สิทธิทางออนไลน์ ควรใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต ไม่ใช่ระบุเจาะจงว่าต้องมีพาสปอร์ตที่ยังไม่ขาดอายุด้วยเท่านั้นนอกจากบัตรประชาชน

พ.ต.อ.ทวี เสนอแนะว่า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสะดวกและเหมาะสม ดังต่อไป

ข้อที่ 1 ขอเสนอให้เลื่อนวันเวลาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในมาเลเซียออกไปประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2566 จะเหมาะสมกว่า และเสนอให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์และส่งบัตรเลือกตั้งถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ตามที่ทางสถานเอกอัครราชทูตได้กำหนดเวลาไว้ เช่นเดียวกับในประเทศอินโดนีเซียที่มีการเลือกตั้งทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ต้า และทางไปรษณีย์ให้ส่งบัตรเลือกตั้งถึงสถานเอกอัครราชทูตภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 (อ้างอิงเอกสารประกาศเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ต้า)

“ถึงแม้ว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศเล็กแต่มีจำนวนคนไทยจากทุกภูมิภาคของประเทศอาศัยอยู่กระจายไปทุกรัฐ ไม่ได้เกาะกลุ่มเฉพาะรัฐส่วนกลางหรือรัฐใหญ่ ๆ เท่านั้น การเปิดโอกาสให้ออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์ได้ จะทำให้ผู้ใช้สิทธิได้รับความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และประชาชนเหล่านี้ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสุดแล้วตามระบอบประชาธิปไตย ในการที่จะมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนเพื่อทำหน้าที่แทนตนในสภา การประกาศวันเลือกตั้งที่มาเลเซีย ทีำให้คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในมาเลเซียมีความรู้สึกเหมือนโดนแกล้งที่การเลือกตั้งเป็นโอกาสที่คนไทยได้พบกับ หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง มีเกียรติและมีค่าเท่ากันเพียงครั้งเดียว” พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ