กองทัพเรือ แจง สื่อโซเชียลปล่อยเอกสารแผ่นเหล็กใต้แนวน้ำ เรือหลวงสุโขทัย บางไม่ผ่านมาตรฐาน ยันมีการซ่อมทำตามมาตรฐาน ก่อนออกปฏิบัติงาน
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 ม.ค.2566 พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์บางสำนัก วิจารณ์การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย โดยระบุว่าแผ่นเหล็กที่ใช้ซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย ในปี 2561 เคยมีปัญหา ไม่ผ่านมาตรฐานกองควบคุมคุณภาพการต่อเรือ เพราะพบว่าแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำบางกว่าที่กำหนดนั้น จากการตรวจสอบกับกรมอู่ทหารเรือ ที่มีหน้าที่ซ่อมและสร้างเรือให้กับกองทัพเรือ พบว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
พล.ร.ท.สุทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลที่มีการวิจารณ์นั้น เป็นข้อมูลการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือของเรือหลวงสุโขทัย ในห้วงการซ่อมทำเรือหลวงสุโขทัยตามวงรอบที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ในระหว่าง วันที่ 12 ก.ค.-ก.ย.2561
โดยกองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีฯ ได้วัดความหนา เมื่อวันที่ 23-24 ก.ค.2561 เพื่อให้ทราบสภาพแผ่นเหล็กตัวเรือทั้งหมดตลอดลำ ซึ่งจะมีแผ่นเหล็กบางจุดมีความหนาน้อยลงจากเดิมเกิน 25% จำนวน 13 จุดซึ่งเป็นข้อมูลจริงตามที่มีการนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากขาดข้อมูลการซ่อมทำของอู่ราชนาวีฯ
เจ้ากรมอู่ทหารเรือ กล่าวว่า กระบวนการซ่อมทำของเรือหลวงสุโขทัย ของอู่ราชนาวีฯ มีขั้นตอนตั้งแต่การนำเรือเข้าอู่แห้ง ฉีดน้ำทำความสะอาดสิ่งสกปรก และพ่นทรายเพื่อลอกเพรียงและสีของตัวเรือใต้แนวน้ำ จากนั้นจะสำรวจอุปกรณ์ใต้น้ำต่างๆ เช่น โดมโซนาร์ ตรวจสอบวัดระยะ เบียดของแบริ่งรองรับเพลา ตรวจสอบระบบใบจักร ตรวจวัดความหนาของแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำและเหนือแนวน้ำ หากพบว่าความหนาลดลงกว่า 25% ของความหนาแผ่นเหล็กเดิม ซึ่งเกิดจากการผุกร่อนตามระยะเวลา ก็จะทำการตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กตัวเรือที่มีการชำรุด โดยตัดเปลี่ยนบรรจุแผ่นเหล็กใหม่ด้วยแผ่นเหล็กทนแรงดึงคุณภาพสูง High Tensile
เมื่อตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กเสร็จแล้ว จึงจะเข้ากระบวนการทำสีตัวเรือใต้แนวน้ำตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการผุกร่อนของตัวเรือ ป้องกันเพรียง นอกจากนั้นจะมีงานที่ไม่สามารถซ่อมทำขณะเรือลอยอยู่ในน้ำได้ เช่น การตรวจสอบและซ่อมทำลิ้นน้ำที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด รวมถึงการติดสังกะสีกันกร่อน
เมื่อการซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำเสร็จเรียบร้อย จึงจะนำเรือออกจากอู่แห้งและทำการสูบน้ำเข้าอู่แห้ง ให้เรือลอยพ้นหมอนรองรับเรือ เพื่อตรวจสอบการรั่วของตัวเรือ และงานใต้แนวน้ำที่ซ่อมทำ หากพบการรั่วของน้ำเข้าตัวเรือจะแก้ไขและหากแก้ไขไม่ได้จำเป็นต้องนำเรือนั่งหมอนในอู่แห้งใหม่
ทั้งนี้ หลังการซ่อมทำแล้ว ได้ตรวจสอบแนวเชื่อมด้วย Visual Check และ Vacuum Test ตามมาตรฐานคุณภาพ ของกรมอู่ทหารเรือก่อนการทดลองเรือในทะเลจริงเพื่อส่งมอบให้กับกองเรือยุทธการ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 โดยที่ผ่านมา เรือหลวงสุโขทัย ได้มีการออกปฏิบัติราชการหลายครั้ง และสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
ยืนยันว่า กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานและความเชี่ยวชาญการซ่อมและสร้างเรือของกองทัพเรือ โดยผ่านผลงานการซ่อมเรือและสร้างเรือมามากมาย