ทนายอนันต์ชัย ประวัตินักว่าความตัวท็อป ผู้เคียงข้างบิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์

Home » ทนายอนันต์ชัย ประวัตินักว่าความตัวท็อป ผู้เคียงข้างบิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์
ทนายอนันต์ชัย ประวัตินักว่าความตัวท็อป ผู้เคียงข้างบิ๊กโจ๊ก-เสรีพิศุทธ์

เพียงไม่กี่วันหลังจากบิ๊กโจ๊ก-พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล เผยว่าจะดำเนินคดีกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกค้นบ้านพักของตัวเองในซอยวิภาวดี 60 เมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.)  ที่ตนมองว่าไม่เป็นธรรม ก็เปิดตัว ทนายอนันต์ชัย หรือนายอนันต์ชัย ไชยเดช มาเป็นผู้ว่าความของตนเพื่อต่อสู้คดี

ทนายอนันต์ชัยผู้นี้มีประวัติที่ไม่ธรรมดา เพราะก่อนหน้านี้เคยว่าความให้กับคนดังจำนวนมากมาแล้ว ซึ่งรวมถึง พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยและอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นักกฎหมายรายนี้ เกิดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2503 เติบโตที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วยชีวิตที่เหมือนเด็กธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อศึกษาอยู่ชั้นมัธยม แม่ของทนายอนันต์ชัยกลับถูกโกงที่ดินกว่า 100 ไร่ และแพ้คดีในชั้นศาล จุดนี้เป็นแรงขับดันให้เข้าศึกษาต่อด้านกฎหมาย จนจบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยเวลาเพียง 3 ปีครึ่ง เมื่อปี 2527 ก่อนจบเนติบัณฑิตเมื่อปี 2529

เมื่อปี 2544 หลังจากว่าความในคดีทั่วไปจำนวนมากมานาน ก็ถึงเวลาที่ทนายอนันต์ชัยได้แจ้งเกิด จากคดีปลอมแปลงใบหุ้นธนาคารทหารไทย ที่สร้างเสียงฮือฮาไปทั่ววงการในฐานะ “แจ็กผู้อาสาล้มยักษ์ขี้ฉ้อ”

ทนายอนันต์ชัยโพสต์เรื่องนี้ผ่านแฟนเพจเมื่อปี 2565 เล่าว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้ตัวเองมีชื่อเสียงไม่ได้เลยถ้าหากขาดผู้สื่อข่าว 2 คนนี้

 

ปีเดียวกันนี้ ทนายอนันต์ชัยยังถูกจับตามองอีกครั้ง จากการว่าความให้กับกลุ่มผู้ค้าหูฉลามย่านเยาวราช ต่อสู้กับองค์การอนุรักษ์สัตว์ป่านานาชาติ (ไวลด์เอด)

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นทนายความให้กับดาราดัง หลายคน เช่น เอ๋-ชุติมา นัยนา ที่ถูกนิตยสารฉบับหนึ่งกล่าวหาว่าเป็นแม่เล้า เรื่อยไปถึง อ๋อม-สกาวใจ พูลสวัสดิ์ ที่บริษัทหนึ่งแอบอ้างชื่อเป็นตัวแทนงานโฆษณา

ต่อมา ได้มาเป็นทนายความให้กับอดีต ผบ.ตร. ชื่อดัง คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อีกด้วย ทั้งยังเห็นว่าหลังจากที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผันตัวมาเป็นนักการเมือง การทำงานในการปราบปรามความไม่ชอบมาพากลทั้งในวงการการเมืองและสังคม ก็ยังเข้าขากันได้อย่างดี

ระหว่างนั้น ทนายอนันต์ชัยยังไม่หยุดเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเรียกต่อในอีกหลายหลักสูตร ดังนี้

  • หลักสูตรโนตารีปับลิก รุ่นที่ 4 จากสภาทนายความ (2546)
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายชั้นสูง รุ่นที่ 6 จากสถาบันวิชาชีพกฎหมายชั้นสูง สภาทนายความ (2547)
  • หลักสูตรเจ้าหน้าที่รายการวิทยุกระจายเสียง รุ่นพิเศษ 48 จากสถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ (2548)
  • หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองบัญชาการกองทัพไทย รุ่น 4 จากสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (2556)
  • ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย (2557)

ที่มาฉายา “ทนายกระดูกเหล็ก”

ที่มาของฉายาทนายกระดูกเหล็ก เกิดขึ้นระหว่างที่ทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นี่เอง ขณะนั้นทนายอนันต์ชัยถูกมองว่าเป็นคนที่เดินหน้าอย่างเดียว ไม่มีการถอย จนถึงขั้นถูกขู่และทำร้ายร่างกายแต่ก็ยังรอดมาได้ทุกครั้ง และอีกครั้งคือเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2551 ที่ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลใช้มีดฟันศีรษะบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ศีรษะแตกและนิ้วก้อยซ้ายแตก

ขณะนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่ขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. แล้ว ก็ทำหนังสือไปยัง ผบ.ตร.ในขณะนั้น คือ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมหามาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ทนายความ และให้เร่งจับกุมคนร้าย

คดี 7 โจ๋รุมฆ่าชายพิการ

เมื่อปี 2559 เกิดเรื่องสะเทือนใจคนจำนวนมากในประเทศ เมื่อวัยรุ่น 7 คนรุมทำร้ายชายพิการคนหนึ่งจนเสียชีวิต ทนายอนันต์ชัยหลังจากทราบเรื่องก็รับว่าความให้ฝ่ายเหยื่อ

คดีดังกล่าว ผู้ต้องหาคนหนึ่งมีการโพสต์ข่มขู่ทนายอนันต์ชัยว่าจะถล่มสำนักงานและให้ระมัดระวังตัว ด้วย แต่ก็ไม่เป็นที่เกรงกลัวแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่นั้นการโพสต์ข่มขู่นี้ ทนานอนันต์ชัยยังอโหสิให้ด้วย

ปิดรังศรีสุวรรณ

หลังจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. สมัยแรกเมื่อปี 2562 ทนายอนันต์ชัยก็เป็นจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญในการทำให้บรรดา “นักร้อง” ที่ชอบยื่นร้องเรียนนักการเมืองให้องค์กรต่างๆ ตรวจสอบ ต้องทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง

เพราะทนายอนันต์ชัยเป็นผู้รับเรื่องจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในการยุบสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งขณะนั้นตนเชื่อว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการของสมาคมดังกล่าว น่าจะมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองด้วยหรือไม่ 

สุดท้ายคดีนี้ก็ส่งผลให้สมาคมดังกล่าวถูกยุบ จากการพบว่านายศรีสุวรรณแอบอ้างชื่อบุคคลหนึ่งมาเปิดสมาคม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ