ทนายชี้ "พี่กบ" ไล่ออกไม่ได้ ปมสาวลางานไปดูใจแม่ก่อนตาย แนะคณะทัวร์รอฟัง 2 ฝั่งก่อน

Home » ทนายชี้ "พี่กบ" ไล่ออกไม่ได้ ปมสาวลางานไปดูใจแม่ก่อนตาย แนะคณะทัวร์รอฟัง 2 ฝั่งก่อน

จากกรณีไวรัลในโลกออนไลน์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์แชตที่คุยกับหัวหน้างานชื่อ “พี่กบ” โดยสาวผู้โพสต์ขอลางานไปดูใจแม่ที่กำลังจะเสียชีวิต แต่ทางหัวหน้างานไม่อนุญาต ยืนยันว่ายังไงผู้โพสต์ก็ต้องกลับมาทำงาน สุดท้ายแม่ของผู้โพสต์เสียชีวิตจริงๆ ซึ่งทางหัวหน้างานนอกจากจะไม่แสดงความเสียใจแล้ว ยังถามอีกว่า จะลาออกใช่ไหม เสร็จธุระแล้วก็ให้มาเขียนใบลาออกได้เลย

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม โพสต์คลิปในเพจ ทนายคู่ใจ วิเคราะห์กรณีดังกล่าว ระบุว่า สังคมมองว่า HR ไม่มีความเมตตา ไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจสิ่งที่มนุษย์โลกทั่วไปเขาเป็น พ่อแม่จะเป็นจะตาย คนเป็นลูกต้องมีสิทธิ์ไปดูแลรักษาก่อนตาย HR หรือหัวหน้างาน ที่บอกว่าลาไม่ได้ ถ้าเจอเหตุการณ์เดียวกันคุณจะเป็นแบบไหน

เรื่องนี้สังคมอาจจะเห็นใจลูกจ้าง แต่ต้องมาดูในส่วนของกฎหมายการคุ้มครองแรงงาน ว่ากฎหมายให้สิทธิ์ไว้อย่างไร การลากิจ ลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี คือนายจ้างต้องให้ลูกจ้างสามารถลากิจได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไลน์ไปบอกว่าลาแล้วจะหยุดได้ทันที คำว่าลาต้องรอให้นายจ้างอนุมัตด้วย ถึงจะลากิจได้ เพราะว่าการลากิจได้เงินเดือน

ส่วนการที่ลากิจแล้วเขาไม่ให้ลากิจ แล้วให้ไปลาออกเลย ในทางข้อกฎหมาย เมื่อลูกจ้างลาไม่ได้ จะเป็นการหยุดงาน ก็มีสิทธิขาดงานติดต่อกัน 3 วันโดยไม่ติดต่อนายจ้างเลย นายจ้างถึงจะมีสิทธิไล่ออกได้

ในกรณีที่ลา 1 วันพาแม่ไปหาหมอ แล้วแม่เสียชีวิต ก็เท่ากับขาดงานแค่ 1 วัน จะไล่ออกไม่ได้ การให้เขียนใบลาออกเป็นการบีบบังคับลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างไม่ได้สมัครใจจะลาออก

หากให้ความเป็นธรรมในมุมของนายจ้าง เมื่อเจอลูกจ้างลาบ่อย ถ้า HR ดูแลพนักงานแบบนี้ มันส่งผลต่อกิจการของคุณเอง และกิจการของคุณเป็นโรงแรม เราเป็นลูกค้าคนหนึ่งก็จะไม่ไปใช้บริการ ถ้าโรงแรมไม่ออกมาชี้แจงหรืออธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น หรือลูกจ้างคนนี้ลาอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว จนนายจ้างไม่ไหว ก็ให้ออกมาพูดเลย จะได้เข้าใจในมุมของนายจ้าง

รถทัวร์ที่กำลังไปลงนายจ้างก็อยากให้ฟังคำอธิบายก่อน อาจจะมีบางเหตุผลก็ได้ คนเราเวลาโพสต์ก็จะโพสต์ในมุมของตัวเอง ต้องดูเรื่องนี้กันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ