ต้องแบบนี้เท่านั้น! ทีมวิจัยเกาหลีใต้ฟันธง เราควร "เปิดหรือปิด" ฝาชักโครกก่อนกดน้ำ?

Home » ต้องแบบนี้เท่านั้น! ทีมวิจัยเกาหลีใต้ฟันธง เราควร "เปิดหรือปิด" ฝาชักโครกก่อนกดน้ำ?

จากผลการศึกษาใหม่ โดยทีมวิจัยแห่ง Asan Medical Center ประเทศเกาหลีใต้ ได้ทำการทดสอบการกดชักโครกที่เผยให้เห็นว่าการเปิดฝาทิ้งไว้ตอนกดนั้น ‘น่ารังเกียจ’ เพียงใด เนื่องจากการศึกษาพบว่า การกดชักโครกสามารถแพร่กระจายอนุภาคเล็กๆ ของน้ำ ปัสสาวะ อุจจาระ และเชื้อโรคได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2022 ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ได้ทำการใช้เลเซอร์ในการวัดละอองที่ฟุ้งกระจาย (ที่ปกติมองไม่เห็น) ของชักโครกที่ไม่ได้ปิดฝา ผลปรากฏว่า การกดชักโครกนั้นทำให้เกิดฝอยละอองส้วมฟุ้งกระจาย ที่ความเร็วกว่า 2 เมตรต่อวินาที และอยู่ที่ความสูงถึงเหนือโถ 1.5 เมตรภายใน 8 วินาที

เช่นนี้ ทางทีมวิจัยจึงได้พัฒนาอุปกรณ์ชักโครกอัตโนมัติ ที่จะทำงานก็ต่อเมื่อ ‘ปิดฝาเท่านั้น’ ทาง จีฮเย พัค (Jihye Park) ผู้เขียนรายงานการศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า อุจจาระของมนุษย์อาจมีแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้จำนวนหนึ่ง จึงต้องใช้วิธีการควบคุมการติดเชื้อใดๆ เพื่อให้ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกทั้งเพื่อทำการวิเคราะห์การแพร่กระจายของละอองที่เกิดจากการกดชักโครก พวกเขาได้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวที่ห้องน้ำในโรงพยาบาลจำนวน 4 ห้อง โดยแต่ละห้องได้มีการทำความสะอาดแล้ว 1 ครั้ง

แล้วปล่อยให้อนุภาคในอากาศเกาะตัวอยู่บนพื้นผิวของแผ่นวุ้น (สำหรับจับแบคทีเรีย) ที่วางไว้แต่ละจุด เป็นเวลา 90 นาที จากนั้นทีมวิจัยก็จะทำการตรวจดูว่าตัวแบคทีเรียเติบโตขึ้นได้อย่างไร ตลอดจนเทียบแบคทีเรียบนพื้นผิวรอบๆ ของห้องน้ำที่มีและไม่มีอุปกรณ์กดน้ำอัตโนมัติ

ทว่าพัคกล่าวย้ำว่า การศึกษาของเขาให้ความสำคัญกับ ‘การปิดฝา’ ก่อนการชะล้าง และการติดตั้งอุปกรณ์ชะล้างอัตโนมัติ เพื่อลดการปนเปื้อนของพื้นผิวห้องน้ำ แถมยังระบุอีกว่า เรากำลังจะติดตั้งอุปกรณ์ชะล้างอัตโนมัติในห้องน้ำของโรงพยาบาล พร้อมกับการฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV แบบอัตโนมัติ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

นอกจากนี้การศึกษาของเขายังพบวิธีการลดการปนเปื้อนที่เกี่ยวกับการกดชักโครกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นก็คือ การเติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคลงในโถ รวมถึงการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อลงไปในโถชักโครก และการทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณห้องน้ำทั้งหมด

การศึกษานี้พิจารณาเฉพาะ ‘แบคทีเรีย’ เท่านั้น ยังไม่ได้ทดสอบครอบคลุมถึงการปนเปื้อนของไวรัสร่วมด้วย อย่างไรก็ตามห้องน้ำที่บ้านหรือที่สาธารณะเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกันหลายคน อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ