บิ๊กตู่ ลั่น ปล่อยสุราเสรีอย่างที่ก้าวไกลเสนอไม่ได้ สั่งหน่วยงานแจงความชัดเจน กฎกระทรวงฉบับครม. ไฟเขียวผลิตสุราเอง ยันไม่มีนัยยะทางการเมือง
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ระหว่างการพิจารณาวาระร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. … ที่กรมสรรพสามิตเสนอ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมครม.ฟัง ว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่มีการพูดคุยกันว่าจะให้ผ่อนปรน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากกฎหมายเดิมตึงเกินไป โดยเฉพาะเหล้าเถื่อน ถ้ากินไปแล้วบางรายถึงขั้นตาบอด เสียชีวิต จึงมีการขอให้ปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อผ่อนปรนและเน้นเรื่องความปลอดภัย คุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเน้นย้ำให้มีความเสรีภายใต้กฎหมาย
โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการปรับปรุง ขณะนี้เสร็จแล้ว จึงเอามารายงานครม.ในครั้งนี้ หลังจากนี้รอประกาศใช้ลงราชกิจจานุเบกษา สำหรับกฎหมายฉบับนี้ ก่อนหน้านี้ได้ไปดำเนินการรับฟังความเห็นจากชาวบ้านมาแล้ว
ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงความเห็นว่า สุราถือเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของประเทศ การมีกฎหมายนี้ออกมาน่าจะเป็นตัวช่วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีรัฐมนตรีรายหนึ่งได้เน้นย้ำกับที่ประชุมว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่จะเข้าสภา ไม่มีนัยยะทางการเมือง เป็นการทำกฎหมายล่วงหน้ามาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำ เพียงแต่ไทม์มิ่งมันได้
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้เสนอแนะว่า ถ้าเกิดจะไปปรับตกร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ต้องอธิบายให้ได้ว่าข้อแตกต่างระหว่างกฎกระทรวงที่ครม.เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีข้อแตกต่างกันอย่างไร ถ้ากฎกระทรวงผ่อนคลายลงมา เปิดฟรีมากเกินไป ใครจะไปดูแลในปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องภาษี หรือเรื่องอื่นๆ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงทำความเข้าใจว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถ้าจะเปิดเสรีอย่างที่เสนอนั้น มันทำไม่ได้ โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปประสานกับวิปรัฐบาลในเรื่องนี้
สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ดำเนินการปรับปรุงตามมติครม. ที่เป็นการอนุญาตในการผลิตสุราเพิ่มเติม โดยยึดหลัก 7 ข้อ ดังนี้ 1.คุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยด้านสุขภาพ 2.จัดเก็บภาษีได้ตามเป้า 3.รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น 4.ส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน 5.มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เรื่องการผลิตสุราพื้นบ้านด้วยวิธีแช่และกลั่น 6.กลไกตลาดจะเกิดการแข่งขัน และ 7.เกิดความเท่าเทียมในการเข้าสู่ตลาด ไม่กีดกันทางการค้า และการขออนุญาตจะทำได้ง่ายขึ้น