เจ้าหน้าที่ตื่นเต้น ได้พบ “เต่าปูลู” สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่งชนแดน หน้าตาแปลก ปากคม ปีนต้นไม้เก่ง
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ได้ออกปฏิบัติการลาดตระเวน เพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ ปรากฏว่าพบลูกเต่าปูลู สัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธ์ ที่ระดับความสูง 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงได้จับนำมาตรวจสอบวัดขนาด พบว่าเป็นลูกเต่าปูลูเพศเมีย เมื่อวัดจากปลายหัวถึงปลายหางมีความยาว 14 ซม. จากนั้นได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง – ชนแดน จะพบเต่าปูลูหลายครั้ง แต่ก็ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้พบเห็นเต่าชนิดนี้ตัวเป็นๆ
เต่าปูลูเป็นเต่าขนาดเล็ก หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม กระดองเล็กแบน หัวโตหดเข้ากระดองไม่ได้ ปากคมแข็งแรงคล้ายปากนกแก้วขาใหญ่หดเข้ากระดองไม่ได้เช่นกัน ปลายเท้ามีเล็บสามารถปีนขึ้นขอนไม้หรือก้อนหินได้ หางยาวได้มากกว่ากระดอง มีเดือยแหลมอยู่ระหว่างขาและก้นข้างละอัน กระดองสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออายุน้อยส่วนหัวมีสีออกส้ม เมื่อโตขึ้นหัวค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ สามารถปีนต้นไม้สูงได้ดีมาก ตอนกลางวันจะปีนต้นไม้เพื่อผึ่งแดด แต่จะออกหากินในเวลากลางคืน เป็นเต่าที่มีนิสัยดุ ถ้าจับกระดองเต่าอาจยืดคอแว้งกัดเอาได้ ฉะนั้นการจับเต่าชนิดนี้ให้จับที่โคนหางยกขึ้น เต่าปูลูชอบอาศัยอยู่ตามลำธาร ตามภูเขา ชอบน้ำใสเย็นที่ไหลอยู่เสมอ อาหารของเต่าปูลู คือ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด และไส้เดือน
นายศุภกร อินทรประสิทธิ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน เปิดเผยอีกว่า เมื่อปี 2564 และ 2565 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำจาง ยังได้พบสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง นั่นคือ ปูเจ้าพ่อหลวง(Indochinamon bhumibol) จากการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการเท่าที่หาได้ พบว่า ปูชนิดนี้เป็นปูน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นของไทยพบเฉพาะที่จังหวัดเลยและบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์ และชัยภูมิ พบครั้งแรกที่ภูหลวงจังหวัดเลย เมื่อปี 2519
โดยวันที่ 5 มกราคม 2543 ได้รับพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นนามปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก ลักษณะเด่นของปูเจ้าพ่อหลวงมี 3 สีคือ สีน้ำตาลเข้ม สีม่วง และสีส้ม โดยกระดองจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขาเดิน 4 คู่ และขาก้ามทั้งสองข้างเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยกเว้นด้านในของก้ามหนีบอันล่างเป็นสีม่วง และปลายก้ามหนีบทั้งสองข้างเป็นสีส้ม และจากการสังเกตของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน พบว่า รอยบริเวณหลังกระดองปูเจ้าพ่อหลวง ลักษณะคล้ายรูป “ครุฑ”
จึงชี้ให้เห็นว่า จากการพบสัตว์ป่าหายากทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นการบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง – ชนแดน เป็นแหล่งทรัพยากร แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยของสัตว์ป่า เป็นแหล่งทำรังวางไข่ขยายพันธุ์ของเต่าปูลู ปูเจ้าพ่อหลวงและอีกหลากหลายชนิด รวมทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย