ตำรวจ จับมือ อย.-อภ. บุกรวบขบวนการขาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ออนไลน์ เชื่อ รพ.เอกชนเอี่ยว

Home » ตำรวจ จับมือ อย.-อภ. บุกรวบขบวนการขาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ออนไลน์ เชื่อ รพ.เอกชนเอี่ยว
ตำรวจ จับมือ อย.-อภ. บุกรวบขบวนการขาย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ออนไลน์ เชื่อ รพ.เอกชนเอี่ยว

ตํารวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. และ อภ. รวบเครือข่ายจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ออนไลน์ ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด 4 จังหวัด 9 หมายจับ

วันนี้ (27 ตุลาคม 2564) ที่กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นํานําสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สําเริง อําพรรทอง พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.กิตติ ระหงษ์ ผู้อํานวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย องค์การเภสัชกรรม

ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมเครือข่ายผู้ต้องหาลักลอบจำหน่าย ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่ กทม. สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย พร้อมยึดยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ของกลาง จำนวน 390 กล่อง

โดยคดีนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีการลักลอบจำหน่ายยาดังกล่าวในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี รวม 8 จุด และสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ลักลอบจำหน่ายได้ทั้งขบวนการรวม 9 คน โดย 1 ใน 9 เป็นระดับผู้จัดการทั่วไปของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ทำหน้าที่นำยาออกมาจำหน่ายในราคา 2,000-3,000 บาท โดยเมื่อส่งต่อให้ผู้ร่วมขบวนการที่เป็นพ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าออนไลน์ ซึ่งจะมีการกินกำไรกันเป็นทอดๆ

เบื้องต้น ผู้ต้องหา 8 คน ให้การยอมรับสารภาพ แต่อีก 1 คน ปฏิเสธว่าได้ยาดังกล่าวมาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งสั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไรโดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์สามารถจำหน่ายได้ราคาถึงกล่องละ 8,000 บาท

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแจ้งดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ฐานประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ระบุว่า ขบวนการนี้ทำเป็นขบวนการ โดยอยู่ระหว่างการขยายผล เบื้องต้นพบว่าโรงพยาบาลเข้าข่ายความผิด ซึ่งอยู่ระหว่างขยายผลว่าจะเป็นข้อหาใด รวมทั้งตรวจสอบย้อนหลังว่ามีการจำหน่ายมานานเพียงใดและจำนวนที่ถูกต้อง พร้อมกับฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์ ควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้

และขอเตือนผู้ที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. โดยเฉพาะการลักลอบจาหน่ายยาฟาเวียร์ทางสื่อออนไลน์ ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที เพราะกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องหรือเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด ขอพี่น้องประชาชนช่วยกันสอดส่อง หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจเฟซบุ๊ก ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

ส่วนของกลาง ตามกฎหมายจะต้องส่งทำลายหลังสิ้นสุดคดี แต่กรณีนี้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ถูกต้อง มีความสำคัญต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจะทำเรื่องขอศาลพิจารณาให้นำไปใช้ประโยชน์สาธารณะต่อไป

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีข้อบ่งใช้สาหรับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่าย และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ จึงไม่สามารถจำหน่ายให้กับประชาชนตามช่องทางทั่วไปได้

ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขอย้ำว่าอย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 

นอกจากนี้ ยืนยันว่ายาที่ถูกผลิตหรือนำเข้ามาในประเทศไทยโดยผ่าน อย. สามารถตรวจสอบซีเรียลของล็อตยา และมีการทำบัญชีการสั่งจ่ายยาไปยังสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงการสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยโควิดซึ่งจะมีความสอดคล้องกับจำนวนยา ส่วนจะมีการสวมสิทธิผู้ป่วยโควิดมาเพื่อเบิกยาหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือ อย. เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ