ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม และทีมสอบสวน บก.สส.ภ.2 ทำการสืบสวนและจับกุมเครือข่ายลักแบตเตอรี่เสาสัญญาณของเอไอเอส ในพื้นที่ภาคตะวันออก หลังพบกลุ่มคนร้ายก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกว่า 150 ครั้ง ทำให้บริษัทเสียหายมูลค่ากว่าสิบล้านบาท ทีมวิศวกรและฝ่ายกฎหมายของเอไอเอสร่วมมือกับตำรวจสืบสวน พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานและออกหมายจับผู้ต้องหา 7 คน จับกุมได้ 6 ราย พร้อมของกลาง 114 ลูก สำหรับการลักแบตเตอรี่เสาสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบริการเครือข่ายโทรศัพท์
บก.สส.ภ.2 ทำการสืบสวนเนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีเหตุคนร้ายตระเวนลักทรัพย์แบตเตอรี่(ลิเธียม)ที่ติดตั้งกับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ในกลุ่ม เอไอเอส จำนวนหลายท้องที่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จากการประสานของมูลจาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ว่าในห้วงระยะเวลา ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 ถึงปัจจุบัน พบว่าเกิดเหตุคนร้ายได้ตระเวนก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน กว่า 150 ครั้ง ได้ทรัพย์สินเป็นแบตเตอรี่ ไม่ต่ำกว่า 300 ลูก ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่าสิบล้านบาท
ด้านนายสมภพ กิตติวิรุฬห์วัฒน รักษาการหัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออก เอไอเอส กล่าวว่า “จากกรณีที่มีมิจฉาชีพขโมยแบตเตอรี่ สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของเอไอเอส ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับความเสี่ยงของการให้บริการสัญญาณเครือข่ายอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้สถานีฐานขาดระบบสำรองแหล่งพลังงาน
อันอาจทำให้ไม่สามารถให้บริการสัญญาณได้ตามปกติ ดังนั้นทีมวิศวกร และฝ่ายกฎหมายของเอไอเอส จึงเดินหน้าทำงานสืบสวนในเชิงลึกร่วมกับตำรวจ โดยกองบังคับการสืบสวน สอบสวนตำรวจภูธร ภาค 2 มาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อติดตามกลุ่มมิจฉาชีพและสามารถเข้าจับกุมรายใหญ่ได้ในครั้งนี้ ซึ่งในนามของเอไอเอส ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่านอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับคดีนี้ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า ในพื้นที่อื่นๆ หากมีการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะนี้ จะทำให้สามารถติดตามจับกุม และนำทรัพย์สินกลับมาเพื่อให้สามารถส่งมอบสัญญาณเครือข่ายได้อย่างมีคุณภาพต่อไป อย่างไรก็ตามหากประชาชนพบเหตุต้องสงสัย สามารถแจ้งมาที่บริษัทฯ หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลาเช่นกัน”
สำหรับ แบตเตอรี่ลิเธียม ที่ได้ทำการติดตั้งกับเสาสัญญาณโทรศัพท์ มีไว้สำหรับเป็นกระแสไฟฟ้าสำรองกรณีหากมีเหตุไฟฟ้าดับ แบตเตอรี่จะทำงานจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเสาสัญญาณโทรศัพท์ทำให้ประชาชนที่มีพื้นที่การใช้งานบริเวณเสาสัญญาณนั้นๆ ยังสามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารได้ บริษัทจึงต้องใช้แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีกำลังวัตต์สูง เพื่อสำรองกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอที่จะทำให้สัญญาณโทรศัพท์ไม่ขัดข้องในกรณีที่ไฟฟ้าดับ โดยในเสา 1 ต้น จะติดตั้งประมาณ 2-3 ลูก ราคาอยู่ที่ประมาณ ลูกละ 40,000 บาท
คนร้ายได้กระทำกันเป็นขบวนการเครือข่าย โดยหลังจากที่คนร้ายได้ทำการลักทรัพย์แบตเตอรี่แล้ว จะรีบนำไปส่งขายให้กับกลุ่มรับซื้อของโจร ในราคาลูกละ 5,000-8,000 บาท จากนั้น กลุ่มคนรับซื้อของโจรจะดำเนินการปลด Alert ในตัวแบตเตอรี่ แล้วนำไปลงขายใน Social ตลาดมืด ในราคาลูกละ 12,000 – 14,000 บ.
และหากซื้อจำนวนมากๆ ราคาจะถูกลง ซึ่งตลาดมืดที่มีความต้องการแบตเตอรี่ประเภทนี้สูงที่สุด คือ กลุ่มตลาดที่รับติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่ ที่มีกำลังวัตต์สูง ในการเก็บไฟฟ้า รองลงมาจะเป็น กลุ่มเครื่องเสียงรถยนต์ กลุ่มเครื่องเสียงรถแห่ กลุ่มทำเหมืองขุดบิทคอย เป็นต้น
การกระทำของผู้ลงมือและตัวกลางรับซื้อ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์/รับของโจร ซึ่งมีอัตราโทษสูงถึง 5 ปี และหากมีพฤติการณ์ลักทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือรับของโจร เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อีกส่วนหนึ่ง ต้องระวางโทษตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกดำเนินการตามมาตรการยึดทรัพย์ ในส่วนตัวกลางรับซื้อ รับจำหน่าย ได้มีการอายัดบัญชีไว้แล้ว กว่า 1,000,000 บาท และจะถูกดำเนินคดีทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป