เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ร.ต.อ.ณรงค์ ศิริชัย รอง สวป.สภ.บางพลี สมุทรปราการ พร้อมด้วย นายเรวัต หุนารัตน์ ปลัดอำเภอบางพลี นางพรพณา พัดทอง กำนันตำบลบางปลา ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบภายในตลาดน้ำแห่งหนึ่ง ในตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการเปิดให้ตรวจโควิดโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการเรียกเก็บค่าบริการรายละ 1,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ที่แต่งกายด้วยชุด PPE คอยทำหน้าที่ SWAB ให้กับประชาชนจำนวนมาก ที่เดินทางมาติดต่อขอรับบริการตรวจหาเชื้อในครั้งนี้ โดยการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ให้กับผู้มาขอใช้บริการ จากนั้นรอผลตรวจจาก Rapid Antigen Test โดยจะมีการตั้งโต๊ะ ออกเอกสารรับรองผลการตรวจ ให้กับผู้ที่มาใช้บริการ
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ที่ทางผู้ประกอบการรายนี้แจ้งว่าพบเชื้อแล้วเกือบ 10 ราย เจ้าหน้าที่จึงขอตรวจสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้ ยอมรับว่าไม่มีการยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้หยุดดำเนินการทันที
ขณะเดียวกันผู้ที่พบเชื้อตามผลตรวจด้วยชุด Rapid Antigen Test เจ้าหน้าที่ได้ทำประวัติและให้กลับไปกักตัวที่บ้าน รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เพื่อติดตามมาตรวจยืนยันผลอีกครั้งในโรงพยาบาลของรัฐ พร้อมเชิญตัวผู้ประกอบการไปทำการลงบันทึกประจำวันและทำประวัติที่ สภ.บางพลี ก่อนจะส่งเรื่องให้กับทางสำนักงานสาธารณสุขดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
ด้านตัวแทนผู้ประกอบการ ให้เหตุผลอ้างว่า สาเหตุที่ออกมารับตรวจโควิดในครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้นำชุมชนได้ติดต่อมาว่ามีประชาชนจำนวนมากต้องการตรวจโควิด แต่หาที่ตรวจไม่ได้ ไม่มีโรงพยาบาลรับตรวจ จึงขอให้ออกมาให้บริการประชาชน จึงออกมาให้บริการดังกล่าวมา กว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยจะคิดค่าบริการรายละ 1,000 บาท และมีข้อตกลงกับผู้ที่มาขอรับบริการว่าเป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น และจะออกใบรับรองผลให้แต่ไม่สามารถหาเตียงหรือสถานพยาบาลเพื่อส่งต่อการรักษาให้หากพบเชื้อ
นายเรวัต หุนารัตน์ ปลัดอำเภอบางพลี ระบุว่าการที่ผู้ประกอบการรายนี้ออกมารับตรวจโควิดในครั้งนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีเอกสารระบุสถานที่พยาบาลเทคนิคทางการแพทย์ แต่ไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุข ซึ่งไม่สามารถออกมาตั้งโต๊ะรับตรวจได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่หากผู้ประกอบการรับตรวจในสถานที่ที่ระบุ คือรับตรวจอยู่ในคลินิก โดยผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพเทคนิคทางการแพทย์ หรือผู้เกี่ยวข้องที่ทางสำนักงานสาธารณสุขอนุญาต นั้นสามารถทำได้
ขณะเดียวกันการออกมาตรวจโควิดแบบนี้ ตามหลักข้อตกลงของกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สถานประกอบการพยาบาลรายใด ตรวจพบเชื้อโควิดในคนไข้ จะต้องประสานและส่งต่อการรับตัวรักษาเพื่อหาเตียงให้กับคนไข้ทันที การออกมาในครั้งนี้พบว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้คนไข้ที่อ้างว่าเจอเชื้อ ไปหาสถานพยาบาลเอง เพื่อตรวจซ้ำและทำการรักษา ซึ่งจากข้อมูลที่ได้สอบถามผู้ที่มารับบริการพบว่า ส่วนใหญ่ต้องการตรวจและมีใบรับรองผลตรวจยืนยันกับทางบริษัทที่ทำงาน รวมถึงมีการนำใบรับรองผลที่ไม่ถูกต้องนี้ไปยื่นขอส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามที่จังหวัดบ้านเกิด
ซึ่งอยากฝากเตือนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ขอให้ทำความเข้าใจระบบการส่งต่อการรักษาหรือการตรวจหาเชื้อโควิด ท่านสามารถทำได้ด้วยการหาซื้อที่ตรวจเชื้อ Rapid Antigen Test ตามคลินิกหรือร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อมาตรวจเบื้องต้น แต่จะต้องมีการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งผลยืนยันจะเป็นผลที่ผ่านทางห้องแล็บของทางภาครัฐ จึงจะออกหนังสือรับรองผลตัวจริงให้กับผู้ที่ใช้บริการ
ในส่วนของผู้ที่จะต้องการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ตามหลักคนไข้ในกลุ่มสีเขียว ก็จะต้องทำเรื่องขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ออกหนังสือรับรองและมีการประสานกันระหว่างโรงพยาบาลต้นทางกับปลายทางเพื่อส่งประวัติคนไข้ยืนยันเท่านั้น การใช้ใบรับรองจากคลินิกดังกล่าวไม่สามารถใช้เดินทางกลับไปรักษาต่อที่ภูมิลำเนาได้
นายรังสรรค์ วงษ์บุญหนัก หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ให้ข้อมูลด้านกฎหมายระบุว่าการที่ผู้ประกอบการดังกล่าวออกมาตั้งโต๊ะรับตรวจโควิดนี้โดยที่ไม่มีการขออนุญาต เข้าข่ายมีความผิด ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 16 คือเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 57 ต้องระวังโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ