ตำรวจชี้แจง จับนักข่าวเมียนมา 5 คน ลักลอบเข้าไทย ยันยังไม่ได้ผลักดันกลับประเทศ

Home » ตำรวจชี้แจง จับนักข่าวเมียนมา 5 คน ลักลอบเข้าไทย ยันยังไม่ได้ผลักดันกลับประเทศ
ตำรวจชี้แจง จับนักข่าวเมียนมา 5 คน ลักลอบเข้าไทย ยันยังไม่ได้ผลักดันกลับประเทศ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ชี้แจงถึงกรณีที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย(FCCT) ออกแถลงการณ์เรียกร้องเกี่ยวกับการจับกุมชาวเมียนมา ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ค. 64 ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ กรณีได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ว่ามีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งมีลักษณะคล้ายบุคคลต่างชาติเข้ามาอาศัยภายในหมู่บ้าน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จึงเข้าไปตรวจสอบบ้านหลังที่ได้รับการร้องเรียน พบผู้อยู่อาศัยเป็นชาวเมียนมาจำนวน 5 คน จากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 5 คน มีหนังสือเดินทาง แต่ไม่มีการประทับตรวจลงตราจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จากการสอบปากคำเบื้องต้น รับสารภาพว่าได้หลบหนีเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติจริง ไม่ได้ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองที่ถูกต้องแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยควบคุมตัว นำส่งพนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา จัดให้มีการตรวจโรค Covid -19 ตามขั้นตอนที่ทางสาธารณสุขกำหนดไว้ และดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย ในความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ”

รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่แล้วเมื่อช่วงเช้าของวันนี้(11 พ.ค.64) แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นศาล พนักงานสอบสวนจึงต้องรับตัวผู้ต้องหากลับมาเพื่อทำการผัดฟ้องต่อศาล และจะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันตามขั้นตอนของการสอบสวน

ยืนยันดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย

สำหรับประเด็นการดำเนินคดีและการผลักดันผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรที่มีการเรียกร้องโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา และการนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่ สำหรับการผลักดันผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรนั้น โดยปกติจะดำเนินการภายหลังจากกระบวนการพิจารณาของศาลเสร็จสิ้น โดยเป็นขั้นตอนการดำเนินการตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องพิจารณาและประเมินจากหลายๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาผลักดันออกนอกราชอาณาจักร ตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาในประเด็นเรื่อง การผลักดันออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ