ตำรวจคุมครูไม่แปลก! ย้อนรายชื่อ รมว.ศึกษา เป็นทหารไปแล้ว 13 คน

Home » ตำรวจคุมครูไม่แปลก! ย้อนรายชื่อ รมว.ศึกษา เป็นทหารไปแล้ว 13 คน
ตำรวจคุมครูไม่แปลก! ย้อนรายชื่อ รมว.ศึกษา เป็นทหารไปแล้ว 13 คน

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียล หลังมีรายงานการจัดตั้ง “ครม.เศรษฐา 1” และมีชื่อของ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” ติดอยู่ในโผ ได้คุมกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตเป็นวงกว้าง ถึงความเหมาะสมของตำแหน่งหน้าที่และความเชี่ยวชาญ ไปจนถึงเรื่องของการรักษาอำนาจของตระกูลชิดชอบ

อย่างไรก็ตาม การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่ได้มาจากสายตรงครุศาสตร์ หรือมีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา ไม่ใช่เรื่องใหม่ในคณะรัฐบาลของไทยอยู่แล้ว เพราะหากเราลองย้อนกลับไปดูรายชื่อของรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงเสมา ก็จะพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ได้นั่งเก้าอี้ รมว.ศธ. ล้วนแล้วแต่มาจากสายอาชีพและมีความเชี่ยวชาญด้านอื่นทั้งสิ้น 

Sanook พาทุกคนย้อนดูรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี “ทหาร” นั่งคุมไปแล้ว 13 คน

กระทรวงศึกษาธิการของไทย

กระทรวงศึกษาธิการถือเป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้า มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อเดิมคือ “กระทรวงธรรมการ” ทำหน้าที่ดูแลศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “กระทรวงศึกษาธิการ” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา

เมื่อย้อนกลับไปดูรายชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย (เริ่มตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) มีจำนวนรัฐมนตรีว่าการทั้งสิ้น 57 คน ดังต่อไปนี้ 

 

  • เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) – ครู 

จบการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูชุดแรก และได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาต่อวิชาครูที่ประเทศอังกฤษ ถือเป็นรัฐมนตรีที่วางรากฐานการศึกษาสมัยใหม่ให้กับประเทศไทย และจัดให้มี “การศึกษาภาคบังคับ”​ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง 

  • พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) – ทหาร

ผู้นำทางทหารและนักการเมือง ผู้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยหลังจากทำรัฐประหารแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ พร้อมกับนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) 

  • ศาสตราจารย์ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้อ จารุวัสตร์)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในรัฐบาลสมัยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน 

  • นาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) – ทหาร

อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ แม่ทัพเรือ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎร (หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ) ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนแรก หลังจากเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เป็นคนแรกที่บัญญัติศัพท์คำว่า “เรือดำน้ำ” ขึ้นมาในภาษาไทย โดยเรียกตามลักษณะการใช้งาน และเป็นผู้จัดหาเรือดำน้ำมาใช้ในกองทัพเรือ 

  • จอมพลหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) – ทหาร 

เดิมเป็นหัวหน้าสมาชิกคณะราษฎร สายทหารบก มีบทบาทในการหารเมืองตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม พ.ศ. 2585  

  • พลโทประยูร ภมรมนตรี  – ทหาร

หนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายพลเรือน เคยรับราชการเป็นมหาดเล็ก ตำแหน่งรอมหุ้มแพร (เทียบเท่ายศร้อยโท) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลโทประยูรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ 

  • ทวี บุญยเกตุ – จบเกษตรฯ 

จบการศึกษาวิชากสิกรรม จากประเทศฝรั่งเศส และรับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ เป็นหนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งครุสภา และแต่งหนังสือเรื่องพ่อสอนลูก ก่อนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 ของประเทศ​ แต่เป็นนายกฯ ที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดเพียง 18 วัน ต่อมาได้เป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย 

  • พระตีรณสารวิศวกรรม (ตี๋ ศรีสุข) – วิศวกรรม

จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ (เครื่องกล) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลของพันตรีควง อภัยวงศ์

  • ศาสตราจารย์เดือน บุคนาค – นิติศาสตร์

จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายกระทรวงในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลายคน ทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเวลาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

  • นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) – วารสารศาสตร์ 

นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย จบการศึกษาจาก School of Journalism จากเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับเพื่อนักเขียนและผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 

  • ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช – นิติศาสตร์ 

จบการศึกษาสาขานิติศาสตร์ ที่ิวิทยาลัยวอร์สเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 8 เมษายน พ.ศ. 2591 

  • พลเอกมังกร พรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) – ทหาร

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกองบัญชาการทหารสูงสุด และรับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ปี พ.ศ. 2481 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  

  • พลโทสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ – ทหาร

เคยรับราชการในกองทัพบก ได้ร่วมกับนายทหารคนอื่น ๆ ทำการรัฐประหารและบังคับให้ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ​ และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะถูกปรับเป็นรองนายกรัฐมนตรี

  • เลียง ไชยกาล – ครูและนิติศาสตร์

ได้รับประกาศนียบัตรประโยคประถม จากโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ และจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะจัดตั้งพรรคประชาชนขึ้น และขึ้นรับหน้าที่หัวหน้าพรรค 

  • พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ – ทหาร/วิศวกรรม

จบการศึกษาด้านวิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการที่กองทัพบกไทย พร้อมรับพระราชทานยศร้อยตรี สังกัดกรมอากาศยานทหารบก โดยเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในหลายกระทรวง และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2500) ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

  • ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล – อักษรศาสตร์

จบการศึกษาระดับปริญญาโท ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (M.A.) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ถือเป็นบุคคลสำคัญของโลกและของประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปี ทั้งยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และประธานเตรียมจัดการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

  • ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ – วิศวกรรม 

ปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มรับราชการในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

  • อภัย จันทวิมล – นิติศาสตร์

สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย ระดับปริญาโท ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมคณะลูกเสือแห่งชาติ

  • เกรียง กีรติกร

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกรมวิชาการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นการขยายให้การศึกษาภาคบังคับไปสู่ภูมิภาค และเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาการศึกษาในหลายด้าน จนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น “เสาเอกแห่งการประถมศึกษาไทย”

  • ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ – ครู

จบปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา และปริญญาเอกสาขาประถมศึกษา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีก 4 คณะรัฐมนตรี 

  • ศาสตรจารย์นิพนธ์ ศศิธร – นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทสาขาความสัมพันธระหว่างประเทศ จากโรงเรียนการทูตเฟลทเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟส์ และสาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา และปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคธรรมสังคม และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 

  • ประชุม รัตนเพียร

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนิพันธ์ ศศิธร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาลที่มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 12 วันก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเกิดรัฐประหาร

  • พลตรีศิริ สิริโยธิน – ทหาร

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งอีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหาร

  • ภิญโญ สาธร – ครู

จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นรับราชการเป็นอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และพ้นจากตำแหน่งเมื่อเกิดรัฐประหาร

  • นายแพทย์บุญสม มาร์ติน – แพทยศาสตร์ 

จบการศึกษาปริญญามหาบัณฑิตทางสาธารณสุขศาสตร์และโรคเมืองร้อน จากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของการพลศึกษาแผนใหม่ของไทย” 

  • ศาสตราจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต – ฟิสิกส์

ได้ทุนรัฐบาล (คุรุสภา) ไปศึกษาวิชาฟิสิกส์ เป็นเวลา 9 ปี ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท และเอก ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 

  • ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ – รัฐศาสตร์

สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและเอก สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เป็นผู้หนึ่งที่สนใจและมีบทบาทต่อวิชาชีพสื่อมวลชนไทย และเป็นคณบดีคนแรกของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

  • ชวน หลีกภัย – นิติศาสตร์

จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานเป็นทนายความ และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมาหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข 

  • มารุต บุนนาค – นิติศาสตร์

สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2529 – 19 พฤษภาคม 2531 

  • พลเอกมานะ รัตนโกเศศ – ทหาร

สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนายร้อยเทคนิค จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม 3 สมัย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 

  • พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ – ทหาร 

สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก รุ่นที่ 5 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 16 เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับพลเอก มานะ รัตนโกเศศ ก่อตั้งพรรคราษฎร ต่อมาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

  • พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ – ทหาร

สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนการบิน ของกองทัพอากาศ และเข้ารับราชการเป็นครูการบิน ที่โรงเรียนการบิน ก่อนลาออกจากราชการ เคยได้ดำรงตำแหน่งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร 

  • สัมพันธ์ ทองสมัคร 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระดับปริญญาโท จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการจัดสร้างวัตถุมงคล “จตุคามรามเทพ” เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย

  • สุขวิช รังสิตพล 

เป็นผู้ดำเนินการแผนปฏิรูปการศึกษาไทยในปีพ.ศ. 2538 และเคยได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ 

  • ชิงชัย มงคงธรรม – ครู

 จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเอกลักษณ์ประจำที่เป็นที่รู้จักดี คือชอบเป่าแคน จากการเคยรับราชการเป็นครูมาก่อน จึงได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอก ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

  • ชุมพล ศิลปอาชา – นิติศาสตร์

เป็นน้องชายของบรรหาร ศิลปอาชา สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย

  • ปัญจะ เกสรทอง 

 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ 11 สมัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันจัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษาเพชรบูรณ์

  • สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – รัฐศาสตร์ 

สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย

  • ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย – แพทยศาสตร์

ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่จะขอลาออก หลังจากรับตำแหน่งเพียง 3 เดือน จากนั้นได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ทั้งนี้ ยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง 

  • ทักษิณ ชินวัตร

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของตนเอง ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 8 พฤศจิกายน 2544

  • สุวิทย์ คุณกิตติ – เคมี

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางเคมี และต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกัน ที่ มหาวิทยาลัยเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

  • ปองพล อดิเรกสาร 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยลีไฮ สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่าง พ.ศ. 2545-2546

  • ดร.อดิศัย โพธารามิก – วิศวกรรม

 จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาเอก สาขาวิศกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  

  • จาตุรนต์ ฉายแสง – เศรษฐศาสตร์

เคยเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

  • ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน – ครู

เป็นนักการศึกษาชาวไทย ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และที่ปรึกษาสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ระหว่างวันที่ 6 กุมภาพันธ์ – 9 กันยายน พ.ศ. 2551 

  • ศรีเมือง เจริญศิริ

 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

  • จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ – รัฐศาสตร์

สำเร็จปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

  • ชินวรณ์ บุณยเกียรติ 

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

  • วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล

เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 18 มกราคม พ.ศ. 2555 

  • ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช – เศรษฐศาสตร์

จบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ The London School of Economics and Political Science สหราชอาณาจักร และปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 – 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 

  • พงศ์เทพ เทพกาญจนา – นิติศาสตร์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท Master of Comparative Law จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

  • พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย – ทหาร

จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 13 และโรงเรียนนายเรือ รุ่นที่ 70 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2557 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

  • พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ – ทหาร

จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 (ตท.12 – รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2558 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนสุดท้ายที่เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย

  • นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ – แพทยศาสตร์

เคยเป็นรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์อาวุโส มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเป็นคนไทยที่เป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนสัตยาไส ร่วมกับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2559 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

  • ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ – การตลาด

สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท สาขาการตลาด (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2556–2557 เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

  • ตรีนุช เทียนทอง – การเงินการลงทุน 

สำเร็จการศึกษาสาขาการเงินการลงทุน จาก Western Illinois University สหรัฐอเมริกา ทั้งระดับปริญญาตรีและโท ใน พ.ศ. 2561 ตรีนุชได้ย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นนักการเมืองสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ