"ตะแหลว" เครื่องรางพิธีกรรมโบราณ สู่การสร้างรายได้ชุมชน จ.แพร่

Home » "ตะแหลว" เครื่องรางพิธีกรรมโบราณ สู่การสร้างรายได้ชุมชน จ.แพร่

ตะแหลว” (อ่านว่า  ตะ-แหล๋ว) คือเครื่องรางโบราณที่ใช้ในพิธีกรรมและความเชื่อแต่โบราณของชาวล้านนา ทำด้วยไม้ไผ่สาน มักถูกนำมาใช้ประกอบพิธีสืบชะตา พิธีสวดถอนหลังเสร็จงานศพ เพื่อให้วิญญาณคนตายไม่ย้อนเข้าบ้านเข้าเรือนที่เคยอยู่ พิธีไล่สิ่งอัปมงคล ชาวบ้านบางคนแขวนตะแหลวไว้ที่ประตูเข้าบ้าน หรือทำการลอดตะแหลวหลังเสร็จพิธีอัปมงคลต่างๆ ซึ่งมักพบเจอพิธีกรรมลักษณะนี้ได้ในหมู่คนล้านนา

นอกจากจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแล้ว “ตะแหลว” ยังเกี่ยวข้องกับอาชีพทำเมี่ยงในจังหวัดแพร่มาอย่างช้านาน โดยคนยุคก่อนจะเก็บใบเมี่ยงลงมาจากสวนในป่าที่ไกลบ้าน จากนั้นจะสานไม้ไผ่เป็นก๋วย (ตะกร้าไม้ไผ่) หรือภาชนะใส่ใบเมี่ยง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนออกจากป่า ซึ่งการปิดปากก๋วยต้องสานตะแหลวปิดไว้ทุกครั้ง ทั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนโบราณที่มีวิชาไสยศาสตร์ เพราะการใช้ตะแหลวปิดปากก๋วยเมี่ยงเป็นเหมือนการป้องกันตัวเองจากศาสตร์มืดมนต์ดำ

ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้สูงอายุก็ยังนิยมติดตะแหลวปากก๋วยเมี่ยงก่อนส่งขายเช่นเดิม ซึ่งทำให้การขนส่งสะดวก เวลาเอาก๋วยเมี่ยงซ้อนกัน ก็ไม่ทำเมี่ยงปากก๋วยเสียหายจากการถูกกดทับ

เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตะแหลว ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนล้านนา ชาวบ้านชุมชนบ้านพันเชิง ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ที่ผูกพันธ์กับตะแหลวและวิถีชีวิตการเก็บเมี่ยง จึงได้อนุรักษ์การสานตะแหลวและปรับเปลี่ยนรูปแบบตามยุคสมัย โดยทำให้ตะแหลวมีขนาดเล็กลง และทำเป็นเครื่องรางของฝาก เพื่อให้คนที่ศรัทธาได้เช่าบูชาติดตัว โดยมีการใส่กรอบติดแหนบแขวนกระเป๋าเสื้อให้แบบครบวงจร หรือทำแบบเครื่องรางพวงกุญแจ ถือเป็นงานฝีมือที่ผู้สูงอายุในบ้านพันเชิงได้ร่วมทำกัน ซึ่งวัสดุอุปกรณ์การทำก็สามารถหาได้ในชุมชน  เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ไม้ไผ่ในสวนและสร้างรายได้อีกทาง

ทั้งนี้ วันที่ 10 – 11 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านพันเชิงที่เป็นต้นแบบการสานตะแหลวไม้ไผ่เป็นเครื่องราง ยังได้นำผู้สูงอายุของชุมชนมาออกแสดงผลงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะตะแหลวจิ๋วเครื่องรางของฝาก ราคาตั้งแค่ 99 – 199 บาท ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ นับเป็นสิ่งที่เกิดจากพิธีกรรมและความเชื่อแต่โบราณ ที่กำลังได้รับการสืบทอดและส่งเสริมก่อให้เกิดรายได้เข้าชุมชน 

งานเขียนชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวภูมิภาคในการสื่อสารนวัตกรรมและเศรษฐกิจฐานราก เป็นโครงการภายใต้สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ