ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ไปยังตองกาเพื่อประเมินความเสียหายจากคลื่นสึนามิขนาดใหญ่จากการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่กาชาดสากล บอกกับบีบีซีว่า อาจมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้สูงถึง 80,000 คน
การปะทุของภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย ภูเขาไฟใต้น้ำขนาดใหญ่ ทำให้เกาะตองกาในมหาสมุทรตอนใต้ ถูกปกคลุมไปด้วยเขม่าเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ พลังงานไฟฟ้าถูกตัดขาด และการสื่อสารช่องทางต่าง ๆ เสียหายอย่างหนัก
การปะทุทำให้เกิดคลื่นสึนามิตามมา โดยมีการแจ้งเตือนสึนามิความสูง 1.2 เมตร เข้าซัดชายฝั่งตองกา ขณะที่การปะทุได้ก่อให้เกิดเสียงดังจนาสามารถได้ยินได้ที่นิวซีแลนด์ ซึ่งห่างออกไปราว 2,383 กิโลเมตร
- ศูนย์แจ้งเตือนคลื่นยักษ์ ระบุภัยจากสึนามิในแปซิฟิกลดระดับลงแล้ว ส่วนตองกายังถูกตัดขาดการสื่อสาร
- ครบรอบ 10 ปี เหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และภัยพิบัตินิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
- สึนามิ: จากผู้ประสบภัยสู่ผู้ช่วยชีวิต ครอบครัวหมอเล่าความทรงจำจากหายนะเมื่อ 15 ปีก่อน
ด้านนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระบุว่าสึนามิสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ประเทศตองกา ขณะที่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ข้อมูลความเสียหายในตองกายังคงมีน้อยมากในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศใกล้เคียงอย่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ส่งเครื่องบินตรวจการณ์เพื่อประเมินความเสียหายในตองกาแล้ว
ภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย ได้เกิดการปะทุขนาดเล็กมาหลายวันก่อนการปะทุครั้งใหญ่ในวันเสาร์ หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของตองกา ประกาศเตือนประชาชนถึงผลกระทบจากการสูดดมซัลเฟอร์และแอมโมเนีย ซึ่งมีรายงานว่าพบในบางพื้นที่ของตองกา
บีบีซีไทยสรุปสถานการณ์ล่าสุดของวันที่ 17 ม.ค.
ผู้แทนตองกา ชี้ปัญหาใหญ่คือการปนเปื้อนในน้ำดื่มจากเถ้าภูเขาไฟ
รอยเตอร์ รายงานว่ารองหัวหน้าคณะผู้แทนตองกาในออสเตรเลีย ได้เรียกร้องให้นานาชาติอดทนรอระหว่างที่รัฐบาลตองกากำลังตัดสินใจเรื่องการช่วยเหลือ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่อาจจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งตอนนี้ ตองกาไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด
“เราไม่อยากนำพาคลื่นอีกคลื่น คือ สึนามิโควิดเข้ามาในประเทศ” เขากล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
รองหัวหน้าคณะผู้แทนตองกา กล่าวด้วยว่า “ความช่วยเหลือใด ๆ ที่เข้ามาต้องถูกกักเพื่อตรวจสอบ และมีแนวโน้มว่าชาวต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจากอากาศยานได้”
คลื่นสึนามิทำลายสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลเสียหายอย่างหนัก คาดว่าจะเริ่มกลับมาใช้งานได้ในกว่า 1 สัปดาห์ โดนออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ขณะนี้เครือข่ายโทรศัพท์ในตองกา เริ่มกลับมาใช้งานได้แล้ว แต่เถ้าภูเขาไฟได้เพิ่มความกังวลด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการปนปื้อนในน้ำดื่ม
“คนจำนวนมากไม่ได้ระวังว่าน้ำดื่มเป็นพิษและไม่ดีต่อสุขภาพหากสูดดมเข้าไป พวกเขาต้องสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกัน”
ประเมินเหตุภูเขาไฟระเบิด – สึนามิ กระทบ 80,000 คน ในตองกา
เคที กรีนวูด หน่วยงานกาชาดสากลในฟิจิ ระบุว่าความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจำเป็นต้องถูกส่งเข้าไปในตองกา
“เราสงสัยว่าอาจจะมีผู้ได้รับผลกระทบในตองกาสูงถึง 80,000 คน ทั้งจากภูเขาไฟปะทุครั้งใหญ่ สึนามิ และน้ำท่วมฉับพลัน อันเป็นผลพวงจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ”
เธอกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เขย่าขวัญผู้คน และกาชาดเองยังติดตามสถานการณ์ที่เกาะรอบนอก
ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ไปตองกา
17 ม.ค. ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ไปประเมินความเสียหายในตองกา ซึ่งขณะนี้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ยืนยันว่าออสเตรเลียจะส่งความช่วยเหลือไปยังตองกาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทว่ามีอุปสรรคจากเถ้าถ่านของภูเขาไฟที่ทำให้ไม่สามารถส่งปฏิบัติการบรรเทาทุกข์เข้าไปยังเกาะตองกาได้
“มีความท้าทายหลายอย่างมาก เกี่ยวกับเถ้าภูเขาไฟและการล่มสลายของการติดต่อสื่อสาร เราจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งความสนับสนุนไปยังตองกาเท่าที่จะทำได้” นายกฯ ออสเตรเลีย กล่าวกับ สถานีวิทยุในออสเตรเลีย
ความเสียหายล่าสุด
หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียระบุกับรอยเตอร์ว่า ไม่มีสัญญาณว่าภูเขาไฟจะปะทุขึ้นอีกในขณะนี้ ส่วนเถ้าภูเขาไฟที่พัดมาถึงรัฐควีนแลนด์สของออสเตรเลีย เป็นเถ้าจากการปะทุก่อนหน้า ไม่ใช่การปะทุเมื่อวันเสาร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการแปซิฟิกของออสเตรเลีย ระบุว่ถึงรายงานเบื้องต้นชี้ที่ว่าไม่มีการบาดเจ็บของคนจำนวนมาก และท่าอากาศยานตองกายังมีสภาพที่ค่อนข้างดี แต่ความเสียหายรุนแรงนั้นเกิดขึ้นกับถนนหนทางและสะพานต่าง ๆ และบ้านเรือนที่พักเสียหาย อยู่ในสภาพกระจัดกระจาย
เขาระบุด้วยว่า มีรายงานการสูญหายของหญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งจากเหตุนี้
เจ้าของรีสอร์ทริมชายหาดแห่งหนึ่งที่แหลมฮาฮิฟาว (Hihifo) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากกรุงนูกูอะโลฟา (Nuku’alofa) เมืองหลวงของประเทศตองกา 21 กิโลเมตร โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า “ถูกกวาดไปทั้งหมด” และเล่าว่า ครอบครัวที่ดูแลรีสอร์ตแห่งนี้ต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดขึ้นไปยังพุ่มไม้เพื่อหนีคลื่นสึนามิ
“ชายฝั่งตะวันตกเสียหายทั้งหมดไปทั่วทั้งแถบหมู่บ้านคานุคูโพลู (Kanukupolu)”
การระเบิดครั้งใหญ่
ภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย เกิดการปะทุเป็นระยะ ๆ ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ความรุนแรงของการปะทุเมื่อวันเสาร์นั้น ทำให้คนในประเทศอื่นที่ห่างออกไป ได้แก่ ฟิจิ นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รับรู้การระเบิดได้ คลื่นสึนามิที่เป็นปฏิกิริยาจากการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล ยังทำให้มีคนจมน้ำเสียชีวิต 2 คน ที่ชายหาดทางตอนเหนือของเปรู ซึ่งเป็นอีกฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก
หน่วยพยากรณ์อากาศของนิวซีแลนด์ ระบุว่า หลังจากการปะทุผ่านไป 26 ชม. ชาติที่อยู่ห่างจากตองกานับพันกิโลเมตรทางทิศตะวันตก ก็ได้รับผลกระทบจากเถ้าภูเขาไฟ ได้แก่ ฟิจิ วานูอาตู และนิวแคลิโดเนีย และคาดว่าเถ้าถ่านภูเขาไฟจะกระจายตัวไปยังด้านฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย เมื่อ 17 ม.ค.
เชน โครนิน นักภูเขาไฟวิทยาในนิวซีแลนด์ระบุว่า ข้อมูลก่อนหน้านี้ชี้ว่า การปะทุของภูเขาไฟฮุงกา ตองกา-ฮุงกา ฮาอาปาย เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี นับจากการระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1991