ตร.จับมือกรมปศุสัตว์ ทลายแหล่งซุกซ่อน หมูเถื่อน อายัดกว่า 15,000 กิโลกรัม

Home » ตร.จับมือกรมปศุสัตว์ ทลายแหล่งซุกซ่อน หมูเถื่อน อายัดกว่า 15,000 กิโลกรัม


ตร.จับมือกรมปศุสัตว์ ทลายแหล่งซุกซ่อน หมูเถื่อน อายัดกว่า 15,000 กิโลกรัม

ตำรวจจับมือกรมปศุสัตว์ บุกทลายแหล่งซุกซ่อน หมูเถื่อน อายัดกว่า 15,000 กิโลกรัม ทั้งที่อยุธยาและนครปฐม

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศและเข้ากระบวนการต่าง ๆ เพื่อนำออกสู่ท้องตลาด โดยมิได้ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับสินค้าอันไม่ถูกสุขลักษณะรวมถึงอาจนำโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) มาแพร่ระบาด

ทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสุกรภายในประเทศและเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559, พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. และพล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผบ.ตร. โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองบริโภค (บก.ปคบ.) ตำรวจภูธรภาค 1, 5 และ 7 ร่วมกับ กรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยทั้งหมด 16 แห่ง ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ

เจ้าหน้าที่นำหมายค้นของศาลอาญา เข้าตรวจค้น 16 แห่ง พบว่า จังหวัดนครปฐม 1 จุด สามารถอายัดเนื้อสุกรแช่แข็งรวม 4,070 กิโลกรัมและ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 จุด สามารถอายัดเนี้อสุกรแช่แข็งรวม 11,100 กิโลกรัม ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน โปรดระมัดระวังในการบริโภคเนื้อสุกร ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือไม่ได้มาตรฐาน และขอความร่วมมือกรณีหากมีเบาะแส / เรื่องร้องเรียนลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน / เบาะแสโดยตรงได้ที่สายด่วน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โทร. 1135 หรือ สายด่วนฉุกเฉิน 191 และสามารถแจ้งผ่านช่องทาง แอปพลิเคชัน DLD 4.0 ของกรมปศุสัตว์

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ