‘ตรีนุช’ ย้ำ รับนักเรียน ปี 66 ต้องโปร่งใส ห้ามใช้เงินแลกที่นั่ง เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน เผยลดจำนวนต่อห้อง ให้เหลือ 40 คน
วันที่ 7 มี.ค.2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้ถึงช่วงเวลาการรับนักเรียนเข้าเรียน ปีการศึกษา 2566 แล้ว โดยรับสมัครเข้าเรียนชั้น ม.1 วันที่ 11-12 มีนาคม สอบ 15 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว 16 มีนาคม มอบตัว 1 เมษายน ส่วน ม.4 ที่เปิดสอน ม.ต้น และ ม.ปลาย ม.3 ที่จบโรงเรียนเดิม สมัครเข้าเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด ประกาศผลและรายงานตัวตามที่โรงเรียนเดิมกำหนด มอบตัว 2 เม.ย. สมัครสอบคัดเลือก นักเรียนที่จบ ม.3 จากโรงเรียนอื่น และโรงเรียนเดิม วันที่ 11-15 มีนาคม สอบ 26 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว 30 มีนาคม มอบตัว 2 เมษายน
และโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะ ม.ปลาย (ยกเว้นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) สมัคร 11-15 มีนาคม สอบ/คัดเลือก 26 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว 30 มีนาคม มอบตัว 2 เมษายน ตนได้กำชับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ดูแลการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนแข่งขันสูงที่มีกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่มีการใช้เงินแลกที่นั่งเรียน
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 คือ เด็กทุกคนจะต้องเข้าถึงการศึกษา ดังนั้น นักเรียนที่สอบไม่ติด ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนแข่งขันสูง ผู้ปกครอง และนักเรียน ไม่ต้องกังวล ว่าจะไม่มีที่เรียน สพฐ.จะจัดให้นักเรียนได้มีที่เรียน ได้ศึกษาต่อในโรงเรียนในเขตพื้นที่บริหารให้ครบทุกคน เช่นเดียวกัน การรับนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ
โดยเฉพาะ การรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่จะไม่มีการเปิดสอบแข่งขัน ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งสพฐ.ได้เตรียมเขตพื้นที่บริการเพื่อสนับสนุนให้เด็กเรียนใกล้บ้านแล้ว ดังนั้น ผู้ปกครองสบาย และมั่นใจได้ว่า สพฐ.มีโรงเรียนรองรับเด็กทุกคน
“หาก ศธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรับนักเรียน ศธ.พร้อมที่จะตรวจสอบทันที หากพบว่ามีความผิดจะดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้อย่างสูงสุด อย่างไรก็ตาม ปีการศึกษา 2566 จะมีการปรับลดจำนวนนักเรียนต่อห้องจากเดิม 45 คนต่อห้อง เหลือ 40 คนต่อห้อง และจะล็อกไม่ให้มีการขยายจำนวนนักเรียนเพิ่มอีก
ที่ผ่านมา สพฐ.ให้โรงเรียนลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 และจนมาถึงปี 2566 ให้เหลือ 40 คนต่อห้องเป็นปีแรก สาเหตุที่ต้องลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลงเพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะอัตราครูกับนักเรียนก็มีผลอย่างมากในการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การลดจำนวนนักเรียนต่อห้อง จะทำให้ครูได้ดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึงและเหมาะสม” น.ส.ตรีนุช กล่าว