‘รมว.ศธ.’ แถลงผลงาน 1 ปี เร่งต่อยอดสร้างคุณภาพการศึกษา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกมิติในยุคโควิด มุ่งบูรณาการทุกส่วน สนับสนุนทุกนโยบาย อาศัยสรรพกำลังทุกหน่วย ทำงานไปทิศทางเดียวกัน
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงผลงานสรุปผลงานสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ 1 ปี “Education we can TRUST” ว่า
1 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ เช่น มาตรการรับมือโควิด-19 ได้ระดมฉีดวัคซีนครูและนักเรียน จ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท ให้นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา
จัดทำมาตรการ 6-6-7 เพื่อให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ได้อย่างปลอดภัย ในส่วนของการขับเคลื่อนการศึกษาไทยเพื่อนักเรียนนั้น ศธ.ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์MOE Safety Center ขณะนี้รับแจ้งเหตุแล้ว 173 เคส จัดการสำเร็จแล้ว 168 เคส
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า นอดจากนี้ ได้เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ภายใต้โครงการพาน้องกลับมาเรียน เพื่อค้นหา ติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคัน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการติดตามเด็กตกหล่นกลับมาได้ 95,302 คน คิดเป็น 78.3% แล้ว และโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนที่ขาดโอกาส ได้เรียนฟรี มีที่พักมาตรฐาน
โดยโครงการอาชีวะฯ มีนักเรียนสนใจเข้าเรียนต่อในปรการศึกษา 2565 แล้ว 3,266 คน และยังรองรับได้เพิ่มอีก 5,000 คน พร้อมกับแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครู โดยศธ.ได้เจรจาสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ลดดอกเบี้ยสูงสุด 1% สามารถคืนเงินเข้ากระเป่าครูได้มากถึง 2,262 ล้านบาท
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า การทำงานในปีนี้ ตนจะต่อยอด สานต่อในสิ่งที่ได้ทำไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะการศึกษาต้องไม่หยุดนิ่ง โดยมีเป้าหมายการทำงานคือจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉะนั้นต้องดึงเด็กด้อยโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วย ส่วนการพัฒนาการศึกษานั้น เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาครูที่เป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นผู้พัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้นักเรียนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ตนหารือร่วมกับองค์กรหลักของ ศธ. ว่าอยากให้เป็นปีที่เสริมสร้างและปรับการเรียนการสอนให้นักเรียนที่เพิ่งจะกลับเข้าสู่การศึกษาปีการศึกษา 2565 จาก 2 ปีที่ผ่านมานักเรียนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้เด็กได้รับการเรียนการสอนที่ไม่ปกติ และได้รับผลกระทบทั้งจิตใจ พฤติกรรมด้วย ดังนั้นต้องดูแลในส่วนนี้ไปพร้อมกัน
“ดิฉันมุ่งเน้นว่าศธ.ต้องทำงานบูรณาการทุกส่วนและสนับสนุนทุกนโยบาย เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงที่มีหัวใจหลายดวง ดังนั้นจะต้องทำให้หัวใจทุกดวงเต้นเป็นจังหวะเดียวกันให้ได้ เพราะการศึกษาต้องพัฒนาเยาวชนในทุกมิติ ซึ่งต้องอาศัยสรรพกำลังของทุกหน่วยงาน เพื่อที่จะช่วยกันทำงานไปในทิศทางเดียวกัน” น.ส.ตรีนุช กล่าว