‘ตรีนุช’ ถอดบทเรียนโดมถล่มทับน.ร. มอบเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต 1.4 แสนบาทต่อราย

Home » ‘ตรีนุช’ ถอดบทเรียนโดมถล่มทับน.ร. มอบเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต 1.4 แสนบาทต่อราย



“รมว.ตรีนุช” สั่งถอดบทเรียนโดมถล่มทับน.ร. มอบเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 1.4 แสนบาท ย้ำสถานศึกษาทั่วประเทศ สำรวจตรวจสอบ อาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า ชำรุดเร่งซ่อมแซม

24 พ.ค. 66 – ที่จังหวัดพิจิตร น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมคณะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ลงพื้นที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือสาธารณภัย วาตภัย อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนวัดเนินปอ เพื่อติดตามสถานการณ์ ให้ขวัญกำลังใจ ช่วยเหลือเยียวยา และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ซึ่งเหตุพายุฝนพัดอาคารโดมของโรงเรียนวัดเนินปอล้มทับนักเรียน ผู้ปกครอง และนักการภารโรง ในจุดนี้มีผู้เสียชีวิต รวม 7 ราย และผู้บาดเจ็บ 19 ราย

คณะของนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ ที่โรงพยาบาลพิจิตร ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองที่ประสบเหตุเข้าพักรักษาตัวอยู่ด้วย

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ศธ. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกคน โดยตนได้สั่งการให้ต้นสังกัดของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่อยู่ในพื้นที่วาตภัย ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือ

ขอให้สถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ สำรวจตรวจสอบอาคารสถานที่ ตลอดจนระบบไฟฟ้าของสถานศึกษา ว่าได้มีการบำรุงดูแลรักษาให้ปลอดภัย พร้อมใช้งานหรือไม่ หากพบอาคาร สายไฟฟ้า สนามเด็กเล่น ชำรุดก็ต้องเร่งซ่อมแซมให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

ซึ่งขณะนี้สถานศึกษามีแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดภัยพิบัติทุกประเภทอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ และต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เพื่อป้องกันและเตรียมรับมือหากเหตุเช่นนี้อีก

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประสบเหตุวาตภัยที่อาคารโดมของโรงเรียนวัดเนินปอล้มทับ ได้มีการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้ 1. กลุ่มผู้เสียชีวิต ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบเงินช่วยเหลือรายละประมาณ 145,000 บาท พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค ช่วยเหลืองานบำเพ็ญศพ และทีมสหวิชาชีพช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต

และ 2.กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ มอบเงินช่วยเหลือนักเรียนที่บาดเจ็บสาหัส รายละ 8,000 บาท บาดเจ็บไม่สาหัส รายละ 6,000 บาท รวมถึงมีทีมศูนย์ความปลอดภัยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ช่วยเหลือและมีทีมงานดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ทุกราย อย่างน้อยรายละ 2 คน

ส่วนการฟื้นฟูช่วยเหลือระยะยาวกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จะอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม พร้อมจัดครูดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ครู 1 คน ต่อ นักเรียน 1 คน รายงานทุกวันและทุกระยะ

รวมถึงส่งต่อข้อมูลและดูแลช่วยเหลือนักเรียนจากระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษา และจัดหาทุนการศึกษาให้กับนักเรียนกลุ่มผู้ประสบภัย เป็นต้น พร้อมทั้งให้นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ ของนักเรียนที่มีเพื่อนบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ