วันนี้ (21 กันยายน 2564) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ….. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เป็นร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ…. เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็น และมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว
รวมทั้งเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติ ออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ซึ่งต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร่าง พ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ “ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ครอบคลุมไปถึง ผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย) นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือ วันที่ 26 มีนาคม 2563
“ในร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายหรือบริหาร ตามที่มีข้อคำถามอยู่” น.ส.รัชดา กล่าว
ขณะที่ มติชน รายงานว่า การประกาศใช้ พ.ร.โรคติดต่อ และไม่ต่ออายุ พ.รก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.นี้นั้น ส่งผลให้เป็นการยกเลิกการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปโดยอัตโนมัติและยังทำให้ ศบค.ซึ่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7 วรรคห้า ต้องมีอันสิ้นสภาพไป