วันนี้ (29 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) เนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และต่อมาขยายเวลาการใช้บังคับออกไปเป็นคราวที่ 13 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้น
โดยที่มีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้อมูลที่บิดเบือน ทำให้เข้าใจผิดหรือสับสน กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น การรักษาความสงบเรียกร้อยหรือการรักษาสุขภาพของประชาชนโดยผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ ออกข้อกำหนดไว้ดังนี้
1.ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
2.กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเตอร์เน็ต ให้ กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตังกล่าวทุกราย มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่ กสทช.ทราบและให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที
ให้ กสทช.ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคที่หนึ่งให้แก่ สำนักตำรวจแห่งชาติ(ตร.)โดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตำมวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ต และให้ กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศวันที่ 29 ก.ค2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี