ฤดูร้อนกลับมาแล้ว! ประเทศไทยต้องคู่กับหน้าร้อนเรียกว่าเลี่ยงไม่ได้เลย แทบจะร้อนทั้งปี แต่จะร้อนเป็นพิเศษในตอนช่วงเดือนเมษายน นอกจากจะต้องระวังโรคที่มากับหน้าร้อน เช่น ฮีทสโตรก แล้ว การที่เราจะต้องจอดรถตากแดดไว้นานๆ ก็ต้องระวังเหมือนกัน ซึ่งวันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่า ขวดน้ำดื่ม ขวดพลาสติก ที่เราทิ้งเอาไว้ในรถแล้วจอดรถตากแดด ปลอดภัยหรือไม่? จะมีสารก่อมะเร็งละลายอยู่ในน้ำหรือเปล่า
- ควรรู้! 5 วิธีป้องกันโรค ฮีทสโตรท หรือ โรคลมแดด
- อันตราย! ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิด โรคทางสมอง จริงหรือไม่?
- ปรากฏการณ์ “ไร้เงา” ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ทั้ง 77 จังหวัด ปี 2566
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการทดลองนำขวดน้ำดื่มทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด เมื่อนำน้ำมาตรวจสอบ ปรากฏว่า ไม่พบสารก่อมะเร็ง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อแบคทีเรียปะปนในน้ำที่ถูกเปิดดื่มแล้ว และวางตากแดดในรถ เพราะขวดน้ำดื่มที่เปิดแล้วแต่ดื่มไม่หมด มีโอกาสเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่า ดังนั้นน้ำดื่มที่เปิดแล้วควรดื่มให้หมดในวันเดียว
ส่วนที่ว่าสารก่อมะเร็งจากภาชนะพลาสติก เมื่อถูกความร้อนจากแดดอาจละลายปนเปื้อนในน้ำ ข้อนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของขวดน้ำดื่ม ว่าต้องผลิตจากพลาสติก PET (พลาสติกใส มองทะลุได้) ซึ่งไม่มีสารก่อมะเร็ง และทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 60-95 องศาเซลเซียส
สรุปแล้วว่า น้ำขวดพลาสติกที่ยังไม่เปิดดื่ม ทิ้งตากแดดในรถดื่มได้ไม่อันตราย แต่ถ้าเปิดแล้วควรดื่มให้หมด เก็บไว้ดื่มวันต่อๆ ไปอาจป่วยเพราะเชื้อโรคที่เล็ดลอดเข้าไปในขวดได้ แต่อย่างไรก็ดี ขวดน้ำพวกนี้ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจมีแบคทีเรียตกค้างในขวด หากนำมาใส่น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้เหมือนกัน
แหล่งที่มา js100
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY